Saturday, December 8, 2012

ประมงเตือนผู้เลี้ยงปลาระวังโรคระบาดช่วงฤดูหนาว

ประมงเตือนผู้เลี้ยงปลาระวังโรคระบาดช่วงฤดูหนาว
ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาระวังโรคระบาดช่วงอากาศหนาวเย็น เนื่องจากปลามีสภาพอ่อนแอไม่กินอาหาร เอื้อต่อการเกิดโรค แนะนำปูนขาวละลายน้ำเทลงบ่อ และลดจำนวนปลา...เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นายจิรพงศ์ นุตะศะริน ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ว่า ให้หมั่นดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชังและบ่อดิน เนื่องจากช่วงที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น ปลาจะกินอาหารน้อย สุขภาพอ่อนแอ เอื้อต่อการเกิดโรคระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะปลาที่เป็นแผลตามลำตัวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบทุกปีในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ทั้งนี้ เกษตรกรควรป้องกัน โดยชะลอการเลี้ยง หรือควรเลี้ยงในปริมาณที่น้อยลง ไม่หนาแน่นมากจนเกินไป หรือให้นำปูนขาวละลายน้ำเทลงในบ่อ บ่อละ 50-60 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ และที่สำคัญไม่ควรสูบน้ำเข้าออกภายในบ่อบ่อยครั้ง รวมถึงให้ลดปริมาณอาหารในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ เนื่องจากอาหารที่เหลือจะเกิดการเน่าเสียเป็นกรดแก๊ส น้ำขาดออกซิเจน อาจทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ช็อกตาย สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้นายจิรพงศ์ กล่าวอีกว่า หากเกษตรกรรายใดพบปลาในบ่อหรือกระชังที่เลี้ยงไว้ตาย หรือมีบาดแผลตามลำตัวในปริมาณมากผิดปกติ ให้รีบตักออกจากบ่อแล้วนำไปทำลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคขยายลุกลามไปยังปลาตัวอื่น พร้อมให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอหรือจังหวัด เข้าไปตรวจสอบควบคุมป้องกันเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะเกิดการระบาดและเสียหายเป็นวงกว้าง.

โพลชี้ 43% นักการเมือง แชมป์อาชีพโกง

โพลชี้ 43% นักการเมือง แชมป์อาชีพโกง
ดุสิตโพลชี้ ประชาชนส่วนใหญ่ระบุ เป็น เรื่องน่าอาย ประเทศไทย รั้งอันดับที่ 88 ประเทศที่มีความโปร่งใส ปลอดคอรัปชัน นักการเมือง อันดับ 1 อาชีพโกงมากที่สุด เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. สวนดุสิตโพล หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,289 คน ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2555 กรณีองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศจัดอันดับระดับปัญหาคอรัปชันใน 176 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีความโปร่งใสปลอดคอรัปชันมากที่สุดในโลก คือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ คว้าอันดับ 1 ร่วมกัน ด้านประเทศในอาเซียน สิงคโปร์ได้อันดับดีที่สุด ส่วนไทยรั้งอันดับ 88 ด้วยคะแนนความโปร่งใสเพียง 37 เต็ม 100 ซึ่งคะแนนยิ่งน้อยยิ่งทำให้เห็นว่าประเทศนั้นๆ มีปัญหาการคอรัปชันมาก เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาคอรัปชันในประเทศที่น่าเป็นห่วง สรุปผลดังนี้ เมื่อถามว่า ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร? กรณีไทยติดอันดับ 88  ประเทศคอรัปชันประชาชนส่วนใหญ่ 33.25 รู้สึกว่า เป็นเรื่องน่าอาย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมเสีย 28.06% เป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะรัฐบาลต้องรีบดำเนินการอย่างจริงจัง 22.96% รู้สึกเป็นห่วงและสงสารประเทศไทย คนไทยทุจริตคอรัปชันกันมากขึ้น โดยเฉพาะนักการเมือง และ 15.73% เห็นว่า มาตรการบทลงโทษต่างๆ ยังไม่เด็ดขาดพอ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เมื่อถามว่า “อาชีพ” ที่ประชาชนคิดว่ามีการ “คอรัปชัน” มากที่สุด45.39% ตอบว่า เป็นนักการเมือง /นักการเมืองท้องถิ่น 30.24% ข้าราชการ 12.86% ตำรวจ /ทหาร และ 11.51% นักธุรกิจ /นักลงทุนเมื่อถามว่า “สาเหตุ” ของการ “คอรัปชัน” ในประเทศไทย คือประชาชนส่วนใหญ่ 37.96% ตอบว่า การใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด เห็นช่องทางที่จะได้เงิน / มีคนยุ คนเสนอ 24.49% กฎหมายหย่อนยาน บทลงโทษไม่เด็ดขาด เจ้าหน้าที่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ รับสินบน 20.67% เกิดจากพฤติกรรม นิสัยส่วนตัว /ความโลภ ความอยากได้ไม่รู้จักพอ และ 16.88% สภาพสังคม เศรษฐกิจที่แย่ลง /ฐานะทางครอบครัวยากลำบาก /มีแบบอย่างที่ผิดๆ ให้เห็นเมื่อถามว่า “วิธีแก้ปัญหาคอรัปชัน” ที่ประชาชนคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดและเป็นรูปธรรมมากที่สุด43.08% เห็นว่าควรปลูกฝัง อบรมสั่งสอนเลี้ยงดูบุตรหลานตั้งแต่วัยเยาว์ 29.21% กฎหมาย บทลงโทษต้องเด็ดขาด /เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้มงวดกวดขันเอาจริงเอาจัง ไม่ละเลยในหน้าที่ 15.57% ทุกคนต้องร่วมมือกัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเจอการทุจริตควรรีบแจ้งทันที ไม่ควรนิ่งเฉยหรือละเลย และ 12.14% ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยหยุดการทุจริตคอรัปชัน /มีแบบอย่างที่ดี

74.3% ฟันธงแก้รธน. นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

74.3% ฟันธงแก้รธน. นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง
เอเบคโพลล์ชี้ชัด 74.3% แก้รธน.นำไปสู่ความขัดแย้ง บานปลาย ส่วน 65.9% ระบุ ทุจริตจำนำข้าวจบยาก รวมทั้งปล่อยปละละเลยจะยิ่งทำให้รัฐบาลอยู่ยาก ขณะที่ 67.5% ยอมรับอาจเกิดม็อบไล่รัฐบาลได้ง่ายในปีหน้าวันที่ 9 ธ.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เรื่องง่าย เรื่องยาก ในประเด็นร้อนการเมืองไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,062 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 8 ธันวาคม พ.ศ.2555 โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ระบุเป็นเรื่องง่ายที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจะลงมติวาระสามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 43.9 ระบุเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม เมื่อถามประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับพบว่าก้ำกึ่งกัน คือ ร้อยละ 51.8 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ร้อยละ 48.2 เห็นด้วยนอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะ “จบยาก” ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ระบุว่าจะจบง่าย ยิ่งไปกว่านั้นผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนที่คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68.0 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 74.3 ในการสำรวจล่าสุดนอกจากนี้ ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อปัญหาทุจริตคอรัปชันในโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.9 ระบุจบยาก ในขณะที่ร้อยละ 34.1 ระบุจบง่าย ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.2 ระบุรัฐบาลจะอยู่ยากถ้าปล่อยปละละเลยปัญหาทุจริตคอรัปชันที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุเป็นไปได้ง่ายที่จะเกิดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลในปีหน้า ในขณะที่ร้อยละ 32.5 ระบุเป็นไปได้ยาก และเมื่อถามถึงความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองระหว่างกลุ่มสนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาลพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 ระบุจบยาก ในขณะที่ร้อยละ 10.6 ระบุจบง่าย เมื่อถามถึงปัญหาที่เป็นตัว “บั่นทอน” ความสุขของคนไทยมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 42.7 ระบุปัญหาการเมือง รองลงมาคือร้อยละ 33.4 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ และร้อยละ 23.9 ระบุปัญหาสังคม ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า การเมืองเป็นกลไกที่จำเป็นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะการเมืองถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนจำนวนมากทั้งในเรื่องที่ทำกิน ปัญหาปากท้อง การจัดสรรทรัพยากร และความเป็นธรรมทางสังคม เป็นต้น แต่หลายครั้งกลับพบว่า การเมืองกลายเป็นตัวปัญหาเสียเองที่มักจะซ้ำเติมความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้นจนเป็น “เรื่องยาก” จะเยียวยาแก้ไขได้ ทางออกที่น่าพิจารณาคือประการแรก รักษาจุดแข็งร่วมของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของตนเอง ชุมชน และประเทศชาติ การมีอำนาจต่อรองในการกระจายทรัพยากรสู่ชุมชน ท้องถิ่นและประชาชนแต่ละคน การส่งเสริมเสรีภาพหน้าที่พลเมืองและความรับผิดชอบ เป็นต้นประการที่สอง ส่งเสริมให้รณรงค์ปี 2556 เป็นปีแห่งคุณธรรม และในแต่ละเดือนเป็นเดือนที่ส่งเสริมคุณธรรมด้านต่างๆ เช่น เดือนแห่งความเมตตาปรานี เดือนแห่งความกตัญูญู เดือนแห่งความมีวินัย เดือนแห่งความซื่อสัตย์สุจริต เดือนแห่งการศึกษาเรียนรู้เพิ่มพูนความสามารถ และเดือนแห่งความขยันหมั่นเพียร โดยใช้ยุทธศาสตร์รวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีทั้งความเก่งและความดีอยู่ในแต่ละคนที่นำไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จะทำให้เกิดความตระหนักปฏิบัติคุณธรรมด้านต่างๆ ทุกวันประการที่สาม เสนอแนะให้ฝ่ายการเมืองและประชาชนแต่ละคนลองอ่านนิทานอีสป เรื่อง “ลากับรูปเคารพ” ที่เป็นคติสอนใจได้หลายมิติ เช่น ไม่หลงใหลในอำนาจทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่จะติดตัวไปได้ตลอด และไม่นำความดีของคนอื่นมาเป็นของตน เป็นต้น จะได้เข้าถึงความอนิจจังแห่งอำนาจและทรัพย์สินที่ไม่ได้ยั่งยืนอะไร เผื่อจะมองเห็นตัวเองได้ว่า ผู้คนไม่ได้เคารพยำเกรงท่านเพราะคุณงามความดีของท่านแต่เป็นเพราะอำนาจที่ติดอยู่กับตำแหน่งและทรัพย์สินที่ติดตัวในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อตำแหน่งและทรัพย์สินหลุดลอยไปตัวท่านก็จะไม่ต่างไปจากเจ้าลาตัวนั้นในนิทานอีสปนั่นเอง ทั้งนี้ หวังว่าฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจและคนที่มีทรัพย์สินอยู่ในเวลานี้จะใช้เพื่อเป็นคติสอนใจปฏิบัติตนก่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นต่อตนเองและผู้อื่นประการที่สี่ เมื่อการเมืองกลายเป็น “ตัวบั่นทอน” ความสุขของประชาชน ข้อเสนอแนะคือ รัฐบาลโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร น่าจะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแบบแผนการเมืองแบบดั้งเดิมมาเป็น “การเมืองเพื่อสาธารณชน” คือทำทุกอย่างให้โปร่งใสให้สาธารณชนรับรู้ รับทราบทรัพยากรทั้งหมดที่รัฐบาลมีและใช้ในการบริหารจัดการปัญหาของประเทศ ผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสื่อของรัฐ ผลที่ตามมาคือ การแกะรอยการใช้จ่ายงบประมาณโดยสาธารณชนจะเกิดขึ้นและจะส่งผลทำให้ “คนของรัฐบาล” ต้องปรับปรุงพัฒนาตนเองในการบริหารจัดการปัญหาเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและของประเทศชาติให้มีประสิทธิภาพ (Effectiveness) มีความคุ้มค่าคุ้มทุน (Efficiency) และการจัดวางคณะบุคคลทำงานเพื่อสาธารณชนได้ดี (Accountability) เพราะทุกเม็ดเงินที่มาจากภาษีประชาชนจะถูกจับตามองโดยสาธารณชน โดย “คนของรัฐบาล” ที่ไม่มีคุณภาพทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายการเมืองก็ต้องถูกปรับออกไป เพื่อหาคนดีคนเก่งตามหลักสากลที่ทั่วโลกยอมรับมาทำหน้าที่แทน ประการที่ห้า ประชาชนคนไทยแต่ละคนไม่น่าจะยอมตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่พยายามสร้างความขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้นอีก เพราะอดีตการเมืองที่ผ่านมาน่าจะสอนเราว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนมือผู้ถืออำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มักจะพบว่าไม่มีอะไรใหม่ที่ดีขึ้นต่อวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ แต่มักจะทำให้กลุ่มคนเฉพาะกลุ่มได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น ดังนั้นประชาชนแต่ละคนน่าจะตื่นตัวแสดงตนขึ้นมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่สามารถทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรและการกระจายความเป็นธรรมสู่มือของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศอย่างแท้จริงมากกว่า

Blog Archive