Monday, February 4, 2013

LUNASEA ถึงเมืองไทยแล้ว ชมต้มยำกุ้ง สุโค่ย!

LUNASEA ถึงเมืองไทยแล้ว ชมต้มยำกุ้ง สุโค่ย!
ภาพจาก : http://www.facebook.com/LUNASEATHAILANDลูน่า ซี วงเจ-ร็อค ระดับตำนาน เดินทางถึงประเทศไทย เพื่อเตรียมระเบิดความมันส์ในคอนเสิร์ต LUNASEA The End of the Dream ให้สาวก SLAVE ชาวไทยได้กรี๊ดที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ในช่วงเย็นวันนี้…เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เจ-ร็อค ระดับตำนาน ลูน่า ซี เดินทางมาถึงเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นำโดย ริวอิจิ คาวามูระ (ร้องนำ), อิโนรัน (กีตาร์), เจ (เบส), ชินยะ (มือกลอง) และสึงิโซ (กีตาร์) ได้จัดแถลงข่าวถึงการเดินทางมาพบสาวก SLAVE ชาวไทย ที่โรงแรม W HOTEL BANGKOK โดยมีการยกมือไหว้และกล่าวเป็นภาษาไทยว่า สวัสดีครับ อย่างพร้อมหน้า พร้อมกับได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนชาวไทยที่ไปรอทำข่าวจำนวนมากทั้งนี้ 5 หนุ่มเจ-ร็อค พร้อมแล้วที่จะระเบิดความมันส์ชุดใหญ่ จัดหนักเอาใจคอเจร็อคในเมืองไทยในคอนเสิร์ต ลูน่า ซี ดิ เอ็น ออฟ เดอะ ดรีม ไลฟ์ อิน แบงค็อก (LUNA SEA The End of The Dream Live in Bangkok) ในช่วงเย็นวันนี้ (5 ก.พ.) ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานีเคยมาเมืองไทยเป็นครั้งแรกหรือเปล่าอิโนรัน : เคยมาเที่ยว แต่มาเล่นคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกครับเจ : มาเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นมากครับริวอิจิ : เคยมาตอนโซโล่งานเดี่ยวครับ แต่ถ้ามาในนาม Luna Sea ถือว่าเป็นครั้งแรกละกันครับชินยะ : เคยแอบมาเที่ยวครั้งหนึ่งครับ แต่นี่ถือว่ามาทำงานครั้งแรกสึงิโซ : เคยมาในฐานะของมือกีตาร์วง X Japan แต่นี่มาทำงานในนามของ Luna Sea ครั้งแรกเลยครับมาเมืองไทยไปที่ไหนมาแล้วบ้างอิโนรัน : ไปพักผ่อนแล้วก็ทานข้าวมาแล้วครับเจ : ได้ทานอาหารกับชินยะแล้วก็สำรวจเมืองเรียบร้อยแล้วครับริวอิจิ : ต้องรักษาเสียงก็เลยนอนทั้งวันเลยครับชินยะ : ต้มยำกุ้งอร่อยมากเลยครับสึงิโซ : อย่างแรกทานอาหารที่ภัตตาคาร วิวสวยมาก จริงๆ อยากไปวัดแต่ดึกมากเลยครับก็เลยได้แต่ดูข้างนอก แล้วก็ได้ไปนวดแผนไทยด้วยอยากถามถึงคอนเสิร์ตมีอะไรพิเศษให้แฟนๆ ชาวไทยบ้างหรือเปล่าริวอิจิ : จะเรียกว่าเป็นเซอร์ไพรส์ดีหรือเปล่า แต่สิ่งที่ผมอยากให้แฟนๆ ชาวไทยได้สัมผัสคือความเร่าร้อนของ Luna Sea ครับ อยากให้แฟนๆ ได้เก็บเกี่ยวความรู้สึกเหล่านั้นกลับไปด้วย อยากให้ทุกคนเต็มที่กับมันครับจะมีคอนเสิร์ตในเมืองไทยแล้วมีเทคนิคหรือทริกอะไรหรือเปล่าที่ให้แฟนๆ ได้สนุกกันเต็มที่บ้างชินยะ : ไม่ซับซ้อนยุ่งยากเลยครับ เมื่อวานเห็นแฟนๆ มารับที่สนามบินมากมาย ผมสัมผัสได้ถึงความเร่าร้อนของแฟนๆ ชาวไทยไปแล้ว เอาความเร่าร้อนพวกนั้นมาใส่ในคอนเสิร์ตได้เลยครับ แค่นี้ผมก็อิ่มใจแล้วคอนเสิร์ตมีอะไรที่ให้แฟนๆ ได้เตรียมตัวกันบ้างหรือเปล่า มีเพลงอะไรเป็นไฮไลต์เจ : คงไม่มีอะไรครับ อยากให้แฟนๆ ชอบทุกเพลงเลย มาแล้วอยากให้เต็มที่ครับ เห็นผมนั่งนิ่งๆ แบบนี้แต่ข้างในอยากระเบิดเต็มที่แล้ว อยากให้แฟนๆ เต็มที่เลยครับฝากข้อความถึงแฟนคลับชาวไทยสึงิโซ : สิ่งที่สำคัญมากที่สุดของเราคือคอนเสิร์ตวันนี้จะต้องดีกว่าคอนเสิร์ตเมื่อวาน การพัฒนาคือคอนเซปต์หลักของวง การได้มาเมืองไทยถือเป็นปาฏิหาริย์มากเลยครับ อยากให้แฟนๆ มาชมคอนเสิร์ตพรุ่งนี้ครับ ผมจะเล่นให้ดีที่สุดชินยะ : คำว่าฝากเมสเสจฟังดูยิ่งใหญ่มากเลยนะครับ ไม่มีอะไรครับ เรามารักกันเถอะครับริวอิจิ : แฟนๆ ชาวไทยเร่าร้อนอยู่แล้ว พรุ่งนี้มาเร่าร้อนไปพร้อมๆ กันนะครับ ฉันรักคุณ (ภาษาไทย)เจ : Lets Rock Togetherอิโนรัน : แค่มาเมืองไทยก็พิเศษสุดแล้วครับ ขอให้พรุ่งนี้มาสนุกกัน และเป็นค่ำคืนที่ลืมไม่ลงเลยครับ.ชมคลิปInoran at Music Concept CTWExclusive Message from SUGIZO for THAILAND  

สนธยา ปัดใช้อำนาจย้ายกำนันเป๊าะ ไป รพ.ชลบุรี

สนธยา ปัดใช้อำนาจย้ายกำนันเป๊าะ ไป รพ.ชลบุรี
นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ปัดใช้อำนาจย้ายกำนันเป๊าะ เข้ารักษาตัวที่ รพ.ชลบุรี ยืนยันแยกแยะหน้าที่ลูก และรัฐมนตรีได้ ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ย้ำ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ...นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ยืนยันการนำตัว นายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ บิดาไปรักษาตัวที่ รพ.ชลบุรี เป็นสิทธิของผู้ป่วย ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง อีกทั้งการเข้ารักษาเป็นไปตามมาตรการทางกฎหมาย ที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมดูแล นอกจากนี้ นายสนธยา ยังได้กล่าวว่า ตนเองปฏิบัติหน้าที่ในทุกด้านอย่างเต็มที่ โดยแยกแยะระหว่างหน้าที่ของลูกและหน้าที่ของรัฐมนตรี ดังนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรี แน่นอน นอกจากนี้ คดีของบิดาก็ถึงที่สุดแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการรับโทษตามกฎหมาย ส่วนครอบครัว ก็เตรียมดำเนินการใช้สิทธิให้ความช่วยเหลือ ส่วนประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น มีกรอบระยะเวลาอยู่ ซึ่งทางครอบครัวมีที่ปรึกษากฎหมาย คอยให้คำแนะนำในเรื่องนี้ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กล่าวว่า กรณีกำนันเป๊าะ ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ การนำตัวเข้ารักษาที่ รพ.มีกฎ กติกา ที่ผ่านมาต้องผ่านความเห็นชอบจากแพทย์ และมีฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัด และการขอตัวไปคุมขัง ที่ จ.ชลบุรี นั้น ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ไม่ได้มีการช่วยเหลือกันแต่อย่างใด

คุณชาย ไหว้เจ้าพ่อมังกร ก่อนลุยหาเสียงคลองเตย

คุณชาย ไหว้เจ้าพ่อมังกร ก่อนลุยหาเสียงคลองเตย
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไหว้เจ้าพ่อมังกรเขียว เอาฤกษ์เอาชัย ก่อนลุยลงพื้นที่หาเสียงย่านคลองเตย...ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 16 พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมผู้สนับสนุน ลงพื้นที่หาเสียงย่านคลองเตย โดยมีการไหว้ศาลเจ้าพ่อมังกรเขียว เอาฤกษ์เอาชัยก่อนด้วย โดยระหว่างการลงพื้นที่ มีพ่อค้าแม่ค้า มาให้ข้อมูลว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ตลาดสดสะอาด ถูกหลักอนามัย โดยหลังจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีกำหนดการจะแถลงนโยบายด้านการจราจร ที่สกายวอล์ก ข้างหอศิลป์กรุงเทพมหานคร ขณะที่ในช่วงเย็น จะลงพื้นที่หาเสียงที่ กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 และปิดท้ายที่ถนนข้าวสาร

มาย ไชยนิตย์ทำหนองปรือน่าอยู่

มาย ไชยนิตย์ทำหนองปรือน่าอยู่
               นายมาย ไชยนิตย์ นายกเทศมนตรีเมืองหนองปรือ จ.ชลบุรี ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาว ต.หนองปรือ ได้ทำงานควบ 2 ตำแหน่ง ในระหว่างยกฐานะสภาตำบลที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ หรือองค์การบริหารส่วนตำบล คือเป็นทั้งกำนันตำบล และประธาน อบต.หนองปรือ จากนั้นได้รับเลือกเป็นนายก อบต.ตั้งแต่ปี 2542-2549 และในปี 2549 อบต.หนองปรือ ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลเมืองหนองปรือ ซึ่งนายมาย ไชยนิตย์ ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างเหนียวแน่น เข้ามาทำหน้าที่บริหารเทศบาลเมืองหนองปรือ ในตำแหน่งนายกเทศมนตรี ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นนายกเทศมนตรีสมัยที่ 2                 จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีบนเส้นทางนักบริหารท้องถิ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจาก อบต.ยกระดับฐานะขึ้นเป็นเทศบาลเมืองแห่งแรกของประเทศไทย โดยหลักการบริหารเทศบาลเมืองหนองปรือ นายมาย ไชยนิตย์ ได้นำวิสัยทัศน์ “เมืองหนองปรือน่าอยู่ ผู้คนสมานฉันท์ ผูกพันด้วยวัฒนธรรม เลิศล้ำการเรียนรู้” ซึ่งเป็นเครื่องชี้นำในการบริหารงาน                 นายกมาย เล่าว่า ต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเรื่องถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา ท่อระบายน้ำ ด้านการศึกษา ศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม โดยการศึกษานั้นมีทั้งในและนอกระบบ คือโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการ และโรงเรียนสอนศาสนาทั้งพุทธและอิสลาม เนื่องจากในเขตเทศบาลนั้นมีประชาชนต่างถิ่น ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวต่างชาติ มาอาศัยอยู่อย่างมากมาย ดังนั้นเทศบาลเมืองหนองปรือจึงจำเป็นต้องดูแลส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีผู้ที่มาอาศัยอยู่อย่างทั่วถึง                  ด้านสาธารสุขและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย งานส่งเสริมสุขภาพ มีการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ออกกำลังกาย งานป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตรวจเช็กสุขภาพประชาชนประจำปี โดยเทศบาลได้ตั้งงบประมาณจำนวนกว่า 1 ล้านบาท เพื่อตรวจเช็กสุขภาพประชาชนในท้องถิ่น โดยการทำงานร่วมกับ อสม.และผู้นำชุมชน เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังต้องถูกแลในเรื่องมาตรฐานตลาดสดในพื้นที่ทุกแห่ง เพื่อให้มีความสะอาดอยู่ตลอดเวลา โดยการสุ่มตรวจสารเจือปนในอาหารที่พ่อค้าแม่ค้านำมาจำหน่าย                 งานด้านสวัสดิการสังคม ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ และผู้พิการ โดยเทศบาลได้รับรางวัลการบริหารจัดการคนพิการดีเด่นระดับประเทศ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์                 นายกมายกล่าวทิ้งท้ายว่า ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ปัจจุบันเทศบาลมีประชากรในระบบ 62,000 กว่าคน มีประชากรแฝงประมาณ 100,000 คน ในปี 2554 คดีอาชญากรรมในเขตเทศบาลมีคดีเกิดขึ้น 1,600 คดี นับว่าเป็นสถิติที่สูงมาก จึงได้มีแนวคิดที่จะก่อตั้งสถานีตำรวจภูธรหนองปรือขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นให้ดีขึ้น โดยการประสานงานกับ สตช. และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นในปี 2555                 เทศบาลยังเป็นพื้นที่รองรับในด้านที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพในเขตเมืองพัทยาด้วย จึงเป็นหัวใจหลักที่เทศบาลต้องทำให้ “เมืองหนองปรือน่าอยู่” ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา จึงจำเป็นต้องมีความสมานฉันท์ และสร้างความผูกพันของผู้คนแต่ละวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป   ........................................... ('มาย ไชยนิตย์'ทำหนองปรือน่าอยู่ผู้คนสมานฉันท์ผูกพันด้วยวัฒนธรรม : คอลัมน์เปิดใจผู้นำท้องถิ่น)

เสียงสะท้อนจากคนบางนาถึงผู้ว่าฯคนใหม่

เสียงสะท้อนจากคนบางนาถึงผู้ว่าฯคนใหม่
@ชาวบางนาอยากได้สกายวอล์ก @ .ให้งบประมาณตามใจชาวบ้านบ้าง @ ขอที่ทำกินหน่อยได้ไหม                คม ชัด ลึก ทีวี หนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก และชุมชนคนบางนา ร่วมจัดเวทีสัญญจร "กรุงเทพของเรา...เรากำหนด" สะท้อนปัญหาระดับรากหญ้าจากคนในชุมชนเพื่อนำเสนอว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่กำลังออกหาเสียงในขณะนี้ ให้ฟังเสียงเรียกร้องจากสิ่งที่ประชาชนกำลังต้องการบ้าง                เวทีสัญจรประเดิมจากคนบางนาที่ส่งตัวเแทนโดยมีผู้นำของทั้ง 5 โซนจาก 39 ชุมชน ตำรวจ ภาคธุรกิจ และชาวบ้านกว่า 100 คนร่วมเข้าวงเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสะท้อนมุมมองที่อยากจะขอให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ เข้าใจว่าชาวบ้านในย่านนี้ต้องการอะไรบ้าง                 หนึ่งในตัวแทนภาคธุรกิจ นายอนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีเคเค แกรนด์ เอสเตส จำกัด กล่าวเปิดประเด็นว่า จริงๆ แล้วบางนาไม่ใช่เมืองใหม่ แต่เป็นเมืองที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา และมีเจริญอยู่ตลอดตั้งแต่ยุคสุโขทัยและอยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นมาตลอดเวลาถึงความเจริญ จนถึงปัจจุบัน และกำลังจะก้าวเข้าสู่เออีซีในอีกไม่กี่ปีนี้                สิ่งที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนในเวลานี้คือ บางนาไม่ใช่เมืองชายขอบ แต่เป็นเมืองที่มีความเจริญอย่างต่อเนื่อง คือ มีคำภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "เมกาบางนา" นี่เป็นห้างสรรพสินค้าใหม่ แต่ชื่อเป็นอินเตอร์ที่บ่งบอกได้ว่าที่นี่มีความเจริญ                โดยส่วนตัวแล้วหากผู้ว่าราชการคนใหม่ที่จะเข้ามาดูแล ก็อยากให้มองเห็นและเข้าใจถึงความต้องการของคนในย่านบางนาบ้าง สิ่งที่ควรจะมีในพื้นที่นี้คือ "บางนาถนนน่าเดิน" เพราะขณะนี้บางนามีไหล่ทาง หรือฟุตบาตแคบมาก โดยเฉพาะสี่แยกบางนามีคนมาใช้ในตอนเช้าหลายหมื่นคนต่อวัน แต่แทบจะไม่มีที่ให้พอเดิน เพราะทางเท้าแคบ                จึงขอเรียกร้องไปยังผู้ว่าฯ ขอให้มีสกายวอล์ก ซึ่งก่อนหน้านั้นก็คิดว่าเมื่อมีรถไฟฟ้ามาก็น่าจะมีสกายวอล์กตามมาด้วย แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีให้เห็น จึงอยากฝากเรื่องนี้ไว้ด้วยว่าน่าจะมีสกายวอล์ก เพราะถ้ามีแล้วก็จะทำให้คนบางนาสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น                ขณะที่ชาวบ้านที่รับฟังการเสวนาครั้งนี้ แสดงความคิดเห็นว่า อยากฝากเสียงสะท้อนจากชาวบ้านไปสู่ผู้สมัคร ว่าคนบางนาไม่ใช่เมืองชายขอบอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะเจริญ มีสนามบิน มีเมกาบางนา เซ็นทรัล ศูนย์ประชุมไบเทค มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน และที่กำลังจะมาใหม่คือ ห้างเดอะมอลล์ หรือเอ็มโพเรี่ยมสอง กำลังจะผุดขึ้นที่สี่แยกบางนา                ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหารนครคนใหม่ ว่าขอเส้นทางสะดวกสบายให้คนบางนาเดิน และขอสกาย วอล์กให้คนบางนาด้วย                อีกหนึ่งเสียงสะท้อน ฝากถึงผู้ว่าฯ คนใหม่ บอกว่า ชุมชนที่มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงมาก คนในบางนามีไลฟ์สไตล์แบบใหม่ ทำให้คนบางนาก้าวไปไกล ชุมชนที่นี่จึงเจริญมาก และก้าวไกลไปมากแล้ว ที่นี่จึงไม่ใช่เมืองชายขอบ แต่ต่อไปจะเมืองระดับนานาชาติ ก่อนที่อนาคตนจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามามาก จึงอยากให้มีการช่วยให้คนในชุมชนได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจะดูแลและควบคุมได้อย่างไร ทั้งในด้านภาษา อาชีพ เพื่อให้คนบางนาได้มีการปรับตัวและความเป็นอยู่ได้ทันกับเออีซี ในปี 2558 นี้ด้วย                  "ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการจัดหลัดสูตรเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนในชุมชนได้มีการพัฒนาเตรียมรับกับความเปลียนแปลงที่จะเกิดขึ้น่ในอนาคตด้วย"    ถ้าว่ากันในเรื่องของความปลอดภัย ก็อยากให้ติดไซเรนเมื่อเวลามีโจร หรือไฟไหม้ หรือมีเหตุร้าย เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้เพื่อนบ้านได้รู้ว่าผู้ที่ส่งสัญญาณกำลังได้รับอันตราย จะได้เป็นการช่วยเหลือกันในชุมชนในทางตรงและทางอ้อม คือชาวบ้านก็ต้องป้องกันตัวเอง ดังนั้นอยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ออกมาเป็นกฎระเบียบให้เป็นรูปธรรมด้วย เพราะชาวบ้านอยากจะทำแต่ก็ไม่รู้ว่าทำแล้วจะไปติดกฎระเบียบอะไรบ้างหรือเปล่า   เสียงสะท้อนจากชาวบางนา   ปรัชญา จิระ-ประธานโซนอุดมสุข 1                "อยากให้แก้ไขเรื่องปัญหาที่ดินที่ทำกิน ชาวบ้านยากได้ที่ทำกิน ชุมชนตรงข้ามโรงงานธานินท์ ตอนนี้ไม่มีที่ให้เช่าถูกๆ อีกต่อไปแล้ว กลายเป็นความเจริญมาถึง ก็ทำให้ชาวบ้านอาจจะไม่มีที่อยู่"   ปราโมทย์ ชวาลไพบูลย์-ประธานโซนอุดมสุข 2                "อยากให้แก้เรื่องหมู่บ่านจัดสรร ชาวบ้านที่อยู่ในโซนนี้เป็นพื้นที่เอกชน พัฒนาไม่ได้ รัฐจะบอกว่างบประมาณเข้ามาไม่ถึง จึงต้องช่วยเหลือตัวเอง พวกเราเป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินิติบุคคลจะมี จึงไม่ได้เป็นนิติบุคคล ทำให้ต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างเดียว ตอนที่ซื้อหมู่บ้านบอกว่ามี รปภ. มีสนาม แต่อยู่มา 20 ปี ก็ยังไม่มีอะไรเลย ผมมองว่านักการเมืองรุ่นใหม่ต้องมีความจริงใจกับประชาชน อยากได้ผู้ว่าฯ มีความตั้งใจ ใส่ใจความทุกข์ของประชาชน"   รุ่งระพิน เพ็ญพา -ประธานโซนแบริ่ง-ลาซาล                "ต้องการลานกีฬาให้เด็กๆ ได้เล่นกีฬา และชาวบ้านผู้สูงอายุได้มาผักผ่อน และอยากได้ที่ทำการชุมชน เพราะทุกวันนี้อาศัยบ้านประธาน พอประธานเปลี่ยน ที่ทำการก็เปลี่ยนไปด้วย                และอยากขอให้เพิ่มกล้องวงจรปิดให้มีทุกชุมชนเพื่อป้องกันอาชญากรรม และที่สำคัญขอให้ผู้ว่าฯ ให้งบประมาณการช่วยเหลือ แบบตามใจประชาชนบ้าง ไม่ใช่ให้แต่สิ่งที่ทางการอยากให้อย่างเดียว แต่ชาวบ้านไม่ต้องการ ทำให้เสียงบประมาณเปล่าๆ ฟังเสียงประชาชนบ้างว่าต้องการอะไร"  

ท่องศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน

ท่องศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน
                กว่า 30 ปีที่ศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนได้ก่อกำเนิดขึ้นมาภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีภารกิจสำคัญในด้านการศึกษา วิจัย ทดสอบ พัฒนาด้านพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการผลิตข้าวและธัญพืชเมืองหนาว  ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง   ตลอดจนร่วมปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพิเศษต่าง ๆ                 "ท่องโลกเกษตร"ตามคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย"อภิชาติ พงษ์ศรีอดุลชัย"ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯและชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ" อธิบดีกรมการข้าวพาไปดูความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์วิจัยข้าวแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บ้านท่าไคร้ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เดิมคือศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำลาง(ปางมะผ้า) จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2522 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว                 จากนั้นในปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานพระราชดำริให้กองทัพภาค1 และ 3 ตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลางตามพระราชดำริ   จากนั้นในปี 2525  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการ                 ก่อนที่กองทัพภาคที่3 ส่งมอบโครงการฯให้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกรมวิชาการเกษตรในปีต่อมา พร้อมได้จัดตั้งเป็นสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า สังกัดสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร  โดยในปี 2549 จึงได้ปรับเปลี่ยนภารกิจเป็นศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนถึงปัจจุบัน                  โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 560-570 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มหุบเขา ที่เหลือเป็นภูเขาและป่าไม้ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 310 ไร่ แบ่งเป็นอาคารสิ่งก่อสร้างและถนน 70 ไร่ แปลงทดลองและแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 185 ไร่ เส้นทางน้ำ 15 ไร่และพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกประมาณ 40 ไร่   มีลักษณะพื้นดินเป็นดินร่วมปนทราย  อุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางถึงค่อนข้างสูง ในฤดูฝนจะอาศัยน้ำฝน ส่วนฤดูแล้งอาศัยน้ำจากฝายทดน้ำของกรมชลประทาน                   "ปัจจุบันที่นีมีผลงานวิจัยเด่นอยู่ 3 อย่างคือ ข้าวสาลี ข้าวญี่ปุ่นและข้าวไร่ ข้าวสาลีนี่มีอยู่ 6 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรคือ ฝาง60 ข้าวญี่ปุ่นใช้เพื่อเป็นพืชทางเลือกที่จะปลูกร่วมกับระบบข้าวไร่ ส่วนข้าวไร่ชาวบ้านจะนิยมปลูกในพื้นที่นาระบบขั้นบันได มีอยู่ 2 สายพันธุ์คือเจ้าขาวและเจ้าฮ่อ"ชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าวเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแปลงวิจัยข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ                  อธิบดีกรมการข้าว เผยต่อว่าสำหรับสำหรับงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนนั้น ขณะนี้ดำเนินการอยู่ด้วยกัน 13 โครงการ เช่นโครงการวิจัยและพัฒนาข้าวไร่ในภาคเหนือระยะที่ 2 ซึ่งทำการวิจัยร่วมกับกลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน จนได้ข้าวไร่สายพันธุ์ดีเด่นสายพันธุ์ SPT92029 - PMP - 3 - 10 - 1 เป็นข้าวเจ้าไวต่อแสงอย่างอ่อน ผลผลิตเฉลี่ย 380 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ข้าวเจ้าขาวร้อยละ 21 และสูงกว่าพันธุ์เจ้าลีซอร้อยละ 32 เมล็ดเรียวยาว เปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว ท้องไข่น้อย ปริมาณแอมีโลสต่ำ ส่วนข้าวที่หุงสุกจะมีลักษณะอ่อนนุ่มและมีกลิ่นหอม                 "จากการรวบรวมพันธุ์ข้าวนาที่สูงในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนตามโครงการวิจัยและพัฒนาข้าวนาที่สูงในภาคเหนือตอนบนระยะที่ 2 พบว่าพันธุ์ละอูบ(PMPC95009) เป็นข้าวนาที่สูงที่มีลักษณะดี จึงได้มาปลูกคัดเลือกแบบ mass selection ศึกษาพันธุ์เปรียบเทียบผลผลิตและปลูกทดสอบในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนกระทั่งได้ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงสูงประมาณ 124 เซนติเมตร ผลผลิตเฉลี่ย 500 กก./ไร่ ถ้าเป็นข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนข้าวสารมีสีขาว ท้องไข่น้อย ข้าวสุกร่วนไม่แข้งกระด้าง และไม่หอม"                 ชัยฤทธิ์ยอมรับว่าข้อดีของข้าวสายพันธุ์นี้คือต้านทานโรคไหม้ในสภาพธรรมชาติและปรับตัวได้ในสภาพพื้นที่นาที่ขังน้ำได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ สำหรับพื้นที่แนะนำให้ปลูกคือนาที่สูงที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 800-1,100 เมตรหรือนาขั้นบันไดที่ปรับใหม่เริ่มขังน้ำได้ ปัจจุบันได้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินในลุ่มน้ำของอ.ปางมะผ้า โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินล่ำน้ำแม่สะงา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โครงการธนาคารอาหารชุมชน(food bank)อ.เมืองแม่ฮ่องสอนและโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนบ้านแกงหอมม้ง ต.เมืองแปง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน รวมพื้นที่ประมาณ 150 ไร่                 ขณะที่ ศิวพงศ์ นฤบาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข่าวแม่ฮ่องสอนกล่าวเสริมว่าในส่วนของการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีนั้น ขณะนี้ได้ข้าวสาลีสายพันธุ์เด่นจำนวน 6 สายพันธุ์ได้แก่ สะเมิง1 สะเมิง2 ฝาง60 แพร่60 อินทรี1และอินทรี2 ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนได้จัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวสาลีในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวง พร้อมกับให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสาลี อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนอีกด้วย                  "ล่าสุดทางศูนย์ฯได้มีการศึกษางาญี่ปุ่นหรือไนเจอร์เพื่อเป็นพืชทางเลือก ซึ่งไนเจอร์เป็นพืชน้ำมันในตระกูลเดียวกับทานตะวัน สามารถนำไปใช้ในการบริโภค เภสัชกรรมและอุตสาหกรรม โดยเมล็ด 4 ถังสามารถผลิตน้ำมันพืชได้ 1 ถัง ส่วนการซื้อขายในตลาดท้องถิ่นอยู่ที่ลิตรละ 100 บาท แต่ถ้าตลาดทั่วไป 250 บาท ส่วนเมล็ดขายได้ราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท"ศิวพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย ก่อนพาไปชมแปลงทดลองปลูกข้าวฟ่างและข้าวบาเลย์ ซึ่งปัจจุบันพืชทั้งสองประเภทนี้ได้รับความนิยมจากเกษตรกรน้อยลงเนื่องจากมีปัญหาทางด้านการตลาดนั่นเอง                 นับเป็นอีกก้าวของศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวชนิดต่าง ๆที่เหมาะกับพื้นที่สูง ก่อนนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ต่าง ๆของภาคเหนือต่อไป   ............................................... (ท่องศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน ดูพัฒนาพันธุ์ข้าวเด่น'พื้นที่สูง' : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย... สุรัตน์ อัตตะ)

Blog Archive