Friday, February 8, 2013

มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมรณรงค์หญิงนุ่งผ้าซิ่น

มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมรณรงค์หญิงนุ่งผ้าซิ่น
          เทศบาลตำบลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการยกย่องว่ามีความเข้มแข็งในเรื่องอนุรักษ์วัฒนธรรม เนื่องจากมีองค์กรภาคประชาชนและเอกชน ต่างร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้อยู่กับลูกหลานคนรุ่นใหม่ และเทศบาลยังได้รับรางวัลโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น ที่ดำเนินงานด้านวัฒนธรรม ประจำปี 2555 จาก รมว.วัฒนธรรม เป็นรางวัลการันตีในการดำเนินงานด้วย             "วิโรจน์ หวั่นท๊อก" นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา เปิดเผยว่า เทศบาลได้ปลูกฝังให้คนพื้นที่เห็นความสำคัญเรื่องวัฒนธรรม เนื่องจากพื้นที่มีประเพณีหลากหลายที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทั้งประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน การตักบาตรเทียนและกิจกรรมรณรงค์นุ่งผ้าซิ่นของหญิงที่ปัจจุบันหาได้ยาก แต่ตำบลเวียงสาเป็นพื้นที่ที่ความเจริญเข้าไม่ถึงมากนัก ประชาชนใช้ชีวิตเรียบง่ายและเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน จนเกิดการร่วมกลุ่มคนฮักเมืองเวียงสาที่ทำงานคู่เทศบาลในการรักษาประเพณี             พร้อมอนุรักษ์วัดโบราณที่เก่าแก่คือวัดพระยืนที่ตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นคู่กับการสร้างเวียงป้อ โดยพระยาป้อ เดิมเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ ชื่อว่าวัดบุญนะ และถือเป็นวัดที่เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้สร้างพระอุโบสถขึ้น และเทศบาลยังสร้างพิพิธภัณฑ์ "อนุสรณ์รอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน" ซึ่งเป็นอาคารทรงคุณค่ายิ่งของพสกนิกรชาวเวียงสา ซึ่งเป็นรอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่านของทั้งสองพระองค์ ยังความปลาบปลื้มปีติแก่ชาวอำเภอเวียงสาจนถึงทุกวันนี้              นายก ทต.เวียงสา กล่าวอีกว่า อาคารพิพิธภัณฑ์“อนุสรณ์รอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน” เป็นอาคารไม้สักสองชั้นทั้งหลัง โดยได้บูรณะตกแต่งทาสีใหม่ให้สวยงามและยังคงรูปลักษณ์ในอดีตไว้ทุกประการ ชั้นบนจัดให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ศิลปะล้านนา มรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวน่าน ส่วนชั้นล่างใช้เป็นสำนักงานเทศบาลตำบลเวียงสา จึงทำให้ประชาชนชาวเวียงสามีความรักและหวงแหนในพื้นที่อย่างมาก             ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวรวบรวมของโบราณให้เยาวชน ประชาชน เข้ามาศึกษา เป็นพื้นฐานความรู้ในการรักและหวงแหนความเป็นท้องถิ่นของตนเอง และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทศบาลตำบลเวียงสา ได้รับรางวัลด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมเกิดจากความเข้มแข็งของภาคประชาชนในพื้นที่ ร่วมมือร่วมใจถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ลูกหลานในพื้นที่ได้สืบทอดต่อไป ทั้งการทำตุง การทำโคม การตกแต่งเรือ ที่ใช้ในการแข่งขันเรือประจำปี เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ....................................... (หมายเหตุ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมรณรงค์หญิงนุ่งผ้าซิ่น : คอลัมน์ คนดังท้องถิ่น  โดย... ประภาภรณ์  เครืองิ้ว )

ขอทางเท้าให้ชาวบางนา

ขอทางเท้าให้ชาวบางนา
               ใครเดินทางไปปากน้ำ สมุทรปราการ จากบางนาไปตามถนนสุขุมวิท ก่อนเข้าตัวเมืองปากน้ำ จะเห็นสะพานลอยตรงข้ามวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ เยื้องๆ กับสำนักงานสรรพสามิตจังหวัดสมุทรปราการ สะพานลอยนี้เป็นป้ายรถเมล์และอยู่ใกล้กับท่ารถสองแถวสาย กม.36 ซึ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ผ่านจุดสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ นั่นคือ เมืองโบราณ สถานตากอากาศบางปู และนิคมอุตสาหกรรมบางปู บริเวณท่ารถสองแถว สาย กม.36 ก็ต้องมาต่อรถที่บริเวณนี้กันทั้งนั้น                เมื่อต้องเดินลอดใต้สะพานลอย จะพบช่องแคบ กว้างไม่เกิน 1 ฟุต ฝั่งหนึ่งเป็นบันไดสะพานลอย อีกฝั่งเป็นทางเท้าหน้าอาคารพาณิชย์ ที่เจ้าของเทพื้นคอนกรีตหน้าร้านที่ติดกับทางเท้าสูงเกือบถึงเอว จะเดินผ่านก็ต้องตะแคงตัวค่อยๆ กระดื๊บๆ ไป เพราะช่างคับแคบซะเหลือเกิน หากเป็นคนอ้วนบอกได้คำเดียว...หมดสิทธิ์ผ่าน                เดินเลยมาอีกนิด ถึงตอม่อสะพานลอย ที่สร้างใหญ่โตเป็นฐานบัวประดับเสาตอม่อสะพาน ใหญ่จนทำให้กินพื้นที่ทางเดินเท้าเข้ามาอีก                ทีมงาน "เครือข่ายชุมชนคนบางนา" ได้สอบถามผู้ที่สัญจรไปมาในพื้นที่ตรงนี้ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดินผ่านบริเวณนี้ลำบากมาก คนอ้วนหรือคนตัวใหญ่ไม่สามารถผ่านได้ ต้องลงไปเดินบนถนน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชน อีกทั้งตอนนี้ก็มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ผู้รับเหมาโครงการกั้นพื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนเพื่อก่อสร้างโครงการ ทำให้ถนนแคบลง รถก็เยอะ การจราจรหนาแน่น ทำให้เสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชน และไม่ว่าคนที่ลงมาจากสะพานลอย หรือคนที่เดินมาตามทางเดินเท้า มาถึงบริเวณนี้หากมีคนเดินสวนมาต้องหยุดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผ่านไปก่อน ไม่สามารถเดินสวนกันได้                นอกจากนี้ช่วงเวลาเร่งด่วนและช่วงเทศกาลงานประจำปีของจังหวัดสมุทรปราการ อย่างเช่น งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ ตัวเมืองปากน้ำมีการออกร้านจำหน่ายสินค้า จะมีประชาชนนับหมื่นคนเดินทางมาเที่ยวและซื้อสินค้า บริเวณนี้ก็จะเป็นปัญหาในเรื่องการเดินทางเท้าอย่างมาก เดินได้เพียงแถวเรียงหนึ่ง หากเดินสวนทางต้องลงไปเดินบนถนน                นายวิเชียร เอกมณี บอกว่า ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ ทุกครั้งที่ผ่านบริเวณนี้จะรู้สึกขัดข้องใจ ไม่เข้าใจคนที่คิดโครงการสร้างสะพานลอยนี้ว่าคิดได้อย่างไร เพราะช่องแคบตรงนี้ ความกว้างไม่น่าเกิน 1 ฟุต ทางตรงนี้เกิดจากความร่วมมือสร้างสรรค์ระหว่างเทศบาลที่ตกแต่งสะพานลอยซะใหญ่โต จนทำให้เบียดบังทางเท้า และอีกฝ่ายก็คือเจ้าของร้านที่อยู่ริมทางเท้า เทพื้นคอนกรีตหน้าร้านที่ติดกับทางเท้าสูงขึ้นไปเกือบถึงเอว แต่จะว่าเจ้าของร้านก็ไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ของเขา                นางสมพร บอกว่า วันนี้มาติดต่อราชการที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ และต้องข้ามสะพานลอยนี้เพื่อต่อรถสองแถวสาย กม.36 เดินทางกลับบ้านแถวนิคมอุตสาหกรรมบางปู เมื่อข้ามสะพานลอยลงมาด้านล่าง และเดินไปท่ารถ เห็นทางเดินเป็นช่องทางแคบมาก ประกอบกับเป็นคนอ้วนทำให้เดินผ่านไม่ได้ ต้องลงไปเดินบนถนน กลัวถูกรถเฉี่ยวมาก                พนักงานร้านถ่ายเอกสารริมทางเท้า บอกว่า อาคารพาณิชย์บริเวณนี้สร้างมานานแล้ว ก่อนที่จะสร้างสะพานลอย ส่วนพื้นคอนกรีตที่สูงเกือบถึงเอวนั้น ไม่ทราบว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร และเพราะอะไรจึงเทพื้นสูงขนาดนี้ เนื่องจากมีมาแต่เดิม ตั้งแต่สร้างอาคารพาณิชย์แล้ว ส่วนตัวเป็นเพียงผู้เช่าจึงไม่ทราบ                ป้าตุ๊ก ขายอาหารตามสั่งบริเวณดังกล่าว บอกว่า ขายของที่นี่มากว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีสะพานลอย ตึกแถวบริเวณนี้มีมาก่อนจะสร้างสะพานลอย เห็นปัญหานี้มายาวนานแล้ว แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาแก้ไข   ............................................. (ขอทางเท้าให้ชาวบางนาและปากน้ำเดินด้วย : คอลัมน์ชุมชนคนบางนา)

พิชัยเร่งฟื้นฟูทรัพยากรพร้อมดันสร้างอาชีพ

พิชัยเร่งฟื้นฟูทรัพยากรพร้อมดันสร้างอาชีพ
               พิชัย บุณยเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การบริหารงานของ อบจ.กว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ให้ความสำคัญทุกส่วน โดยเฉพาะเน้นถึงเรื่อง “อบจ.24 ชั่วโมง” และ “อบจ.ส่วนหน้า” มาขับเคลื่อน ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยฝ่ายบริหารประจำอำเภอถึง 23 คน ประจำ 23 อำเภอ                  “3 ปีเศษที่ผ่านมากับการทำงานจะต้องเน้นในเรื่องการทำงานยุทธศาสตร์ให้หนัก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในด้านอาชีพ การทำงานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงควรจะอยู่ที่ 10 ปี แต่ 4 ปีใช่ว่าจะสูญเปล่า ตลอดทั้ง 7 วันไม่เคยหยุดทำงาน การเปลี่ยนแปลงของเมืองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือความเจริญก้าวหน้า”                 ชาวนครศรีธรรมราชยังรอคอยหลายเรื่อง เช่น เรื่องอาชีพ ประมงชายฝั่ง ที่ทรัพยากรฟื้นกลับคืนความสมบูรณ์มาอย่างมาก โดยเฉพาะอบจ.ได้เร่งสร้างความเข้มแข็งการปกป้องทรัพยากรจากการลักลอบทำประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกอาชีพคือชาวนา อบจ.กำลังสนใจในเรื่องการเอาน้ำขึ้นมาแปลงนาเนื่องจากแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นนา โดยได้ตั้งกลุ่มชาวนา 10 กลุ่มในพื้นที่ 2 แสนไร่ กลุ่มละ 2 หมื่นไร่ เพื่อจัดแบ่งใช้พลังงานไฟฟ้านำเอาน้ำเข้าสู่แปลงนา เร็วๆ นี้จะเห็นถึงความชัดเจน ชาวนาจะมีจุดแข็งที่สำคัญคือการปลอดสารพิษ เป็นเกษตรอินทรีย์ อีกส่วนคือความเข้มแข็งในอาชีพยางพารา ที่ อบจ.กำลังพยายามสร้างโรงงานยางพาราในจุดสำคัญๆ รวมทั้งโรงงานคอมปาวด์ จะสามารถดึงเอาความเข้มแข็งของเสถียรภาพและความมั่นคงของราคากลับมา รวมทั้งการจัดทำศูนย์การค้าสินค้าโอท็อปและผลผลิตไม้ผลต่างๆ ของนครศรีธรรมราช                 นายก อบจ.กล่าวเสริมว่า ด้านการกีฬา การท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่ผูกพัน อบจ.มีความเข้มแข็งจนสามารถจัดตั้งเป็นกองงานขึ้นมาได้อย่างเต็มรูปแบบ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลงานกีฬาเยาวชนที่ 4 ของประเทศ กีฬาแห่งชาติอยู่ที่ลำดับ 11 รวมทั้งเรื่องของสุขภาพที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพดี และเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยว เป็นเมืองการกีฬา เมืองท่องเที่ยว เมืองแห่งการศึกษาเรียนรู้                 และที่สำคัญคือความมั่นคงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากภาวะสิ่งแวดล้อมถูกทำลายทั้งจากธรรมชาติ และฝีมือของมนุษย์เป็นเหตุให้เกิดปัญหา ความสำคัญด้านการฟื้นฟูพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจะต้องมีส่วนร่วมกันทุกฝ่ายโดย อบจ.เป็นแกนหลักเนื่องจากมีความพร้อมด้านงบประมาณและจุดเด่นในเรื่องของความร่วมมือ                 “ปะการังเทียม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างแหล่งอาหารทางทะเล โดยก่อสร้างแหล่งปะการังเทียมเพิ่มเติมตลอดแนวชายฝั่งทะเล ทำความสะอาดซ่อมแซมปะการังเทียมที่มีอยู่ให้มีสภาพที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในบริเวณแนวชายฝั่งอ่าวไทย และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ทุกปี อบจ.จะมีงบประมาณในการจัดทำปะการังเทียมอย่างน้อยปีงบประมาณละ 5 ล้านบาท เพื่อวางแนวปะการังที่ประสบความสำเร็จมากนับแต่ อ.หัวไทร ไปจนถึง อ.ขนอม ตลอดชายฝั่งของนครศรีธรรมราช"                 นายกพิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า องค์กรเครือข่ายชุมชนทุกภาคส่วน เป็นกำลังหลักในการฟื้นฟูและร่วมกันปลูกป่าทุกปี โดยดำเนินการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน ชุมชน และต้องให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก โดยดำเนินการจัดสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซล เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากปาล์มน้ำมัน เพื่อลดการใช้และนำเข้าน้ำมันดิบ สร้างพลังงานจากขยะและสนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวล น้ำ ลม และแสงอาทิตย์ ซึ่ง อบจ.กำลังประสานงานเรื่องของโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้พลังงานน้ำโดยรณรงค์ให้ชุมชนทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงาน และหันมาใช้พลังงานทดแทนกันมากขึ้น      .................................... ('พิชัย บุณยเกียรติ'เร่งฟื้นฟูทรัพยากรพร้อมดันสร้างอาชีพ : คอลัมน์เปิดใจผู้นำท้องถิ่น)                            

Blog Archive