Sunday, January 13, 2013

สมชายหวังสยายปีกการท่องเที่ยว

สมชายหวังสยายปีกการท่องเที่ยว
                นายสมชาย ตันประเสริฐ นายกเทศมนตรีเมืองสมุทรสงคราม ได้เล่าให้ฟังว่า นโยบายการพัฒนาจะเน้นในด้านสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ความสำคัญด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของชุมชน พัฒนาด้านการบริหารจัดการและการบริการประชาชน กำหนดแผนโครงสร้างพื้นฐานที่เด่นชัด แนวทางทั้ง 5 ประการนี้จะดำเนินการอย่างโปร่งใส สุจริตเป็นธรรม โดยประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ และเนื่องจากตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสมุทรสงครามสมัยแรก นโยบายที่ตนได้วางไว้คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน                 เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม มีพื้นที่ 8 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 14 ชุมขน มีประชากรประมาณ 30,000 คน สำหรับการพัฒนาเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม                   หลังจากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสมุทรสงครามแล้ว ได้ลงพื้นที่เข้าไปพบชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 14  ชุมชนในทุกวันพุธ เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านว่ามีเรื่องใดบ้าง หากเป็นปัญหาใหญ่ เกินกำลังเจ้าหน้าที่ของเทศบาลจะแก้ได้ หรือต้องใช้งบประมาณมากๆ ก็จะนำเข้าแผนพัฒนา เพื่อนำเข้าสู่สภาเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม เพื่อให้สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม รับทราบปัญหา และร่วมกันแก้ไข แต่หากเป็นปัญหาเล็กๆ  ที่เจ้าหน้าที่ของเทศบาลแก้ได้ ก็จะเข้าไปแก้ไขในทันที เพื่อให้ความเดือดร้อนของชาวบ้านหมดไป ซึ่งการได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ปัญหาความเดือดร้อนที่ชาวบ้านทั้ง 14 ชุมชนได้รับเหมือนกันหมด คือปัญหา ถนน ขยะและน้ำท่วม                  ส่วนปัญหาเรื่องถนนเกิดจากถนนคับแคบ และชำรุด ซึ่งการแก้ไขปัญหาได้แก้ไขเป็นจุดๆ ตรงไหนซ่อมได้ก็ซ่อม ตรงไหนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆ ทำ เพราะงบประมาณของเทศบาลมีไม่มาก จึงต้องเริ่มทำจากซอยเล็กๆ และทยอยทำไปเรื่อยๆ                  นายกเทศมนตรี กล่าวต่อว่า เรื่องขยะเป็นปัญหามานาน เพราะเมืองสมุทรสงครามเป็นเมืองท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวเยอะมาก และนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ปัจจุบันในพื้นที่เทศบาลเมืองสมุทรสงครามมีขยะวันละ 11 ตัน และขยะได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี งบประมาณที่ใช้ในการเก็บขยะในแต่ละปีของเทศบาลเมืองสมุทรสงครามจะสูงถึงปีละ 10  ล้านบาทเศษ                   สำหรับปัญหาน้ำท่วมนั้น เนื่องจากเมืองแม่กลองเป็นเมืองน้ำขึ้น น้ำลง และมีแม่น้ำแม่กลองผ่านตัวเมือง ปัญหาของน้ำท่วมต้องมีแน่นอน และในพื้นที่ตำบลแม่กลอง หรือในพื้นที่โดนน้ำท่วมทุกปี โดยน้ำจะท่วมในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งในช่วงนี้เทศบาลจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และขอความร่วมมือให้ช่วยกันป้องกัน โดยเทศบาลได้นำกระสอบทรายมาเตรียมพร้อมไว้ที่หน้าสำนักงานเทศบาล หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม สามารถมานำกระสอบทรายไปใช้สร้างคันป้องกันน้ำท่วมบ้าน                 การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมแบบถาวรคงทำได้อยาก เนื่องจากต้องสร้างเขื่อนริมแม่น้ำแม่กลองซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นพันๆ ล้านบาท ซึ่งเทศบาลมีเงินไม่พอ นอกจากนี้คนในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม ไม่ต้องการ มีการสร้างถนน ฟุตบาท หรือยกถนน ฟุตบาท สูงกว่าในปัจจุบัน เพราะจะทำให้บ้านอยู่ต่ำลงไปอีก ซึ่งเทศบาลเคยไปทำประชาคมเรื่องการสร้างถนน และฟุตบาทให้สูงกว่าเดิมซึ่งชาวบ้านไม่ยอม เทศบาลก็ต้องฟัง เพราะเป็นความต้องการของประชาชน                  นายกสมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า งบประมาณบริหารไม่มีปัญหา เพราะเทศบาลเมืองสมุทรสงครามมีงบประมาณปีละ 140-150 ล้านบาท ซึ่งพอแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง                  สำหรับรูปแบบของเมืองสมุทรสงครามในอนาคต อยากเห็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวสมุทรสงครามมากขึ้น อยากเห็นนักท่องเที่ยวมานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสมุทรสงคราม อยากให้นักท่องเที่ยวมาซื้อของในตลาดสด เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ซึ่งเทศบาลเมืองสมุทรสงครามจะทำทุกอย่างให้เมืองสมุทรสงครามเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีความสุขทั้งคนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว    .............................................. ('สมชาย ตันประเสริฐ'หวังสยายปีกการท่องเที่ยว'เพื่อคนในท้องถิ่น' : เปิดใจผู้นำท้องถิ่น)

ท่องโลกเกษตรต่างแดนไทยสปป.ลาว

ท่องโลกเกษตรต่างแดนไทยสปป.ลาว
               เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หลังทีมงาน "ท่องโลกเกษตร" ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการดีเด่นอันดับ 1 ของโครงการความร่วมมือระหว่าง ไทยกับ ส.ป.ป.ลาว และถือเป็นไฮไลท์ของทริปพิเศษในโครงการ "ท่องโลกเกษตรต่างแดนรับเออีซี" (AEC) กับรายการ "เกษตรทำกิน" กับ นสพ.คมชัดลึก นำโดยสองเกลอ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2556 ปรากฏว่ามีผู้สนใจสอบถามเข้ามาล้นหลาม อยากทราบถึงรายละเอียดในการเดินทางและสถานที่น่าสนใจอื่นๆ                 เพื่อความต่อเนื่องในเรื่องข้อมูล "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้จะนำเสนอรายละเอียดสถานที่ต่างๆ ที่จะเดินทางไป โดยจุดแรกเป็นโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว บ้านนายาง เมืองนาทรายทอง กำแพงนครเวียงจันทน์ (หลัก 22)และเป็นโครงการพัฒนาแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 ตามคำร้องขอของ ฯพณฯ ไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรชาวลาวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการขยายผลไปสู่แขวงต่างๆ ทั้ง 17 แขวงใน ส.ป.ป.ลาว                 โดยยึดศูนย์พัฒนาแห่งนี้เป็นแม่แบบในการดำเนินงานด้านการเกษตรแบบครบวงจร ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว ได้ใช้แนวทางตามแนวพระราชดำริจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มาประยุกต์ใช้ตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน                 ภายในศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว ประกอบด้วย แปลงสาธิตด้านการประมง ปศุสัตว์ การพัฒนาที่ดินและพัฒนาด้านพืช การให้บริการพันธุ์ปลาน้ำจืด พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจ โดยมุ่งเน้นเกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ในระยะแรก 5 หมู่บ้าน จนครอบคลุมพื้นที่ทั้งโครงการ พร้อมกับขยายผลไปยังแขวงต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ และยังเป็นโครงการดีเด่นอันดับ 1 ของโครงการความร่วมมือระหว่าง ไทยกับ ส.ป.ป.ลาว อีกด้วย                 จากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตกาแฟชื่อดังของลาว  ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชาวลาวได้เป็นอย่างดี จะเห็นว่าในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มชาวไร่กาแฟของลาวได้รับการส่งเสริมปรับปรุง สร้างไร่จากที่กระจัดกระจาย รวมเป็นพื้นที่แปลงใหญ่เพื่อให้เหมาะสมกับการรวบรวม การดูแลรักษา และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้เข้าสู่ระบบเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีเวียดนามที่เป็นมิตรประเทศได้ให้การสนับสนุน                 ด้วยพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันและเชื่อมโยงในด้านผลผลิต เพื่อการส่งออกเป็นสินค้าด้านการเกษตร ที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในกลุ่มเอเชี่ยน แม้กาแฟลาวจะมีส่วนเพียงน้อย แต่ก็ได้วางแผนพัฒนาเพื่อการส่งออกประมาณ 2 หมื่นตันต่อปี เป็นมูลค่าราว 36 ล้านดอลลาร์ โดยมีประเทศสำคัญที่ส่งออกคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และโปแลนด์                      สำหรับกาแฟลาวนั้น เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเมื่อปี 2549 จากงานพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ และต่อมากาแฟยี่ห้อดังอย่าง สีหนุก ก็มาเปิดเป็นคีออส (Kiosk) กาแฟ ภายใต้แบรนด์ Sinouk Cafe Lao ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายแห่งในเมืองเชียงใหม่และจังหวัดทางภาคเหนือ                 จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็จะเดินทางไปดูความก้าวหน้าของโครงการโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2519 โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาวกับองค์กรการกุศลจากประเทศต่างๆ เพื่อรองรับเด็กกำพร้าสมัยสงครามที่มีก่อนปี 2518 เด็กขาดที่พึ่ง และเด็กจากครอบครัวยากจนทั่วประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จะดำเนินการ ส่งผลให้นักเรียนขาดแคลนที่พัก อาหาร และน้ำ เพื่อการอุปโภคและบริโภค และเป็นโรคขาดสารอาหาร                 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม 2533 ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร”                 พร้อมกันนี้ได้มีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม อาทิ อบรมการทำขนม อบรมช่างไฟฟ้า ช่างไม้ ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น                 นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของการเดินทางท่องโลกเกษตรต่างแดนรับเออีซี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและส.ป.ป.ลาวนั่นเอง     .......................................................   ทริปท่องโลกเกษตรต่างแดน"ไทย-ส.ป.ป.ลาว" พฤหัสบดี 21 ก.พ.2556 05.00 น. พร้อมกันที่สนามบินดอนเมือง 09.00 น. ถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย  10.30 น. เดินทางสู่นครเวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว 11.00 น. ชมโรงงานผลิตกาแฟยี่ห้อดัง พร้อมกระบวนการผลิต 12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน 13.00 น. ชมการทอผ้าพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์ 15..00 น. ชมบรรยากาศตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตร 17.00 น. รับประทานอาหารเย็น 19.00 น. เข้าที่พักโรงแรมดอนจัน พาเลซ หรือเทียบเท่า                ศุกร์ 22 ก.พ.2556 07.00 น. รับประทานอาหารเช้า 08.00 น. เดินทางไปยังศูนย์การพัฒนาการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ตามแนวพระราชดำริ (หลัก 22)  09.30 น. ฟังบรรยายสรุปกิจกรรมภายในศูนย์ 12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน 14.00 น. เดินทางไปยังโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 15.00 น. ฟังบรรยายสรุปกิจกรรมของโรงเรียน พร้อมมอบอุปกรณ์การศึกษาและอุปกรณ์กีฬา 18.00 น. รับประทานอาหารเย็น 19.00 น. เข้าที่พักโรงแรมดอนจัน พาเลซ หรือเทียบเท่า                เสาร์ 23 ก.พ.2556 08.00 น. รับประทานอาหารเช้า 09.00 น. ชมสถานที่ท่องเที่ยวในนครเวียงจันทน์/ไหว้พระ(ตลาดเช้า วัดพระแก้ว วัดพระธาตุหลวงฯ)  12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน  13.00 น. ชมสถานที่สำคัญในนครเวียงจันทน์ (ต่อ)  15.00 น. เดินทางสู่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ส.ป.ป.ลาว   19.10 น. เดินทางสู่สนามบินดอนเมือง  20.10 น. ถึงกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ                 สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโต๊ะข่าวเกษตร-ทำกินโทร.0-2338-3358 (ค่าลงทะเบียน 17,500 บาทต่อท่าน /รับเพียง 40 ท่าน)   ........................................ (ท่องโลกเกษตรต่างแดน'ไทย-สปป.ลาว' ตามรอยพระบาทดูโครงการพระราชดำริ : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)  

ทรงชัยลุยพัฒนาเพิ่มความสะดวกปชช.

ทรงชัยลุยพัฒนาเพิ่มความสะดวกปชช.
                           พื้นที่ ต.เจดีย์ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ราบต่ำ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และเลี้ยงเป็ดไข่ ในช่วงฤดูฝนจะถูกน้ำท่วมประจำเมื่อมีฝนตกหนักสร้างปัญหาการสัญจรไปมาเป็นอย่างมาก ซึ่งเส้นทางในหมู่บ้านเกิดชำรุดเสียหายเกือบทุกสาย ทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก                            "ทรงชัย เที่ยงธรรม" นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเจดีย์ เปิดเผยว่า หลังเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีได้จัดสรรงบประมาณพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ดีกินดี มีการศึกษาดี มีหนทางสะดวกเดินทางสบาย มีน้ำกินน้ำใช้ ด้านเศรษฐกิจและสังคมได้เร่งพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญ มีประสิทธิภาพสนองความต้องการประชาชน ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในองค์กร ปรับระบบและจัดหาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารประชาชน แต่งตั้งผู้แทนชุมชนเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและตรวจรับพัสดุพร้อมส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น การเลี้ยงสัตว์ปีก การเลี้ยงปลาและการเพาะเห็ดต่างๆ                            ส่วนการพร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ปรับปรุงท่อระบายน้ำ 10 โครงการ จัดให้มีไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึง การกีฬาและนันทนาการ ส่งเสริมสนับสนุนด้านกีฬาให้ประชาชน จัดโครงการกีฬาต้านยาเสพติดต่อเนื่อง ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน ควบคุมกำจัดขยะและสิ่งแวดล้อมป้องกันปัญหาโลกร้อน เสริมสร้างชมรมแอโรบิกจัดโครงการรณรงค์โรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อ                            นายก ทต.เจดีย์ เล่าต่อว่า ด้านการศึกษา วัฒนธรรมและประเพณี จะฟื้นฟูอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้อยู่อย่างยั่งยืนภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีกิจกรรมตามประเพณีท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์สวยงาม หลากหลาย อาทิ งานประเพณีสงกรานต์ งานวันพ่อ และงานวันแม่ พัฒนาโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กให้มีความพร้อมแก่เด็กปฐมวัย                            จัดสวัสดิการผู้สูงอายุโดยแจกเบี้ยยังชีพ ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเอดส์ให้ทั่วถึง ส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้ประชาชน โดยจัดอบรมความรู้เพิ่มทักษะการประกอบอาชีพตามที่ชุมชนต้องการ เพื่อลดอัตราการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าเมือง ด้านสาธารณภัยจัดฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเตรียมพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จัดให้มีเสียงตามสายเพื่อให้ประชาชนได้ทราบข่าวสารจากเทศบาล ซึ่งการบริหารแม้มีอุปสรรคแต่เพื่อสนองความต้องการประชาชน ก็มุ่งพัฒนาเทศบาลตำบลเจดีย์ ให้เจริญยิ่งขึ้น     --------------------- (คนดังท้องถิ่น : ลุยพัฒนาเทศบาลเจดีย์ เพิ่มความสะดวกปชช. : โดย...อำนวย กล้าหาญ)      

Blog Archive