Thursday, March 7, 2013

สธ.คลอดมาตรฐาน รถเข็นขายอาหาร ต้นแบบรองรับเออีซี

สธ.คลอดมาตรฐาน รถเข็นขายอาหาร ต้นแบบรองรับเออีซี
กระทรวงสาธารณสุข คลอดมาตรฐานรถเข็นขายอาหารต้นแบบ สะอาดปลอดภัยทั้งตัวรถ อาหาร และผู้ขาย รองรับประชาคมอาเซียน...เมื่อวันที่ 7 มี.ค.56 ที่โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเตรียมความพร้อมในการรองรับประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการบริการสุขภาพ ด้านการควบคุมมาตรฐานอาหารนำเข้าและส่งออก รวมทั้งอาหารที่จำหน่ายและบริโภคในประเทศด้วย เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลต่อการมีสุขภาพดี ลดปัญหาการเจ็บป่วย ในปีนี้ได้มอบหมายให้กรมอนามัยเร่งรัดให้ร้านอาหารและแผงลอยพัฒนาให้ได้มาตรฐาน โดยจัดทำโครงการเยาวราชต้นแบบถนนอาหารปลอดภัย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สมาคมภัตตาคารไทย และประชาคมผู้ประกอบการค้าอาหารเยาวราช เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร เตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นครัวโลก ซึ่งได้เปิดอบรมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยย่านเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตพระนคร จำนวน 200 คน เพื่อสร้างความเข้าใจมาตรฐานรถเข็นและแผงขายอาหารปลอดภัย และจะสร้างให้เยาวราชเป็นแหล่งอาหารสะอาดปลอดภัยและรสชาติอร่อยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ขณะนี้อาหารไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก ในปี 2554 ธุรกิจอาหารของประเทศไทยขยายตัวแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 20 นับว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับการส่งออกโดยรวมของประเทศที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 15.9 ต่อปี ซึ่งไทยส่งออกอาหารปีละกว่า 33 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 14 ของการส่งออกทั้งหมด ในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกนอกจากจะผลิตอาหารให้เพียงพอแล้ว อาหารจะต้องปลอดภัยเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของนานาประเทศด้วยด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ออกแบบและกำหนดมาตรฐานรถเข็นขายอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหาร ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1.ด้านตัวรถหรือแผงลอยวางอาหารต้องทำจากวัสดุที่แข็งแรง ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ทำความสะอาดง่าย เช่น สเตนเลส อะลูมิเนียม หรือเหล็ก แต่ต้องไม่เป็นสนิม ไม่มีคม สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร  ส่วนที่ 2 ด้านอาหาร อาหารที่ปรุงสำเร็จต้องใส่ในภาชนะหรือวางในตู้ที่มีการปกปิดมิดชิด เครื่องปรุงและวัตถุดิบทุกอย่างต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาดและมีฝาปิด สารที่ใช้ปรุงแต่งอาหารต้องผ่านการรับรองจาก อย. น้ำดื่มและน้ำแข็งบริโภคต้องสะอาด ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด วางอยู่สูงจากพื้น 60 เซนติเมตร ใช้อุปกรณ์ตักน้ำแข็ง และห้ามนำอาหารหรือสิ่งของอื่นๆไปแช่รวมในภาชนะเก็บน้ำแข็งบริโภค ล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจานและล้างน้ำเปล่า 2 รอบ โดยตั้งอุปกรณ์การล้างสูงจากพื้น 60 เซนติเมตร เก็บช้อน ส้อม ตะเกียบในภาชนะที่โปร่งสะอาดมีฝาปกปิด และต้องตั้งเอาด้ามขึ้นและกำจัดขยะมูลฝอยหรือเศษอาหารไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและส่วนที่ 3.ด้านตัวผู้ปรุงหรือผู้ค้าขายอาหารต้องมีสุขอนามัยดี รักษาความสะอาดของร่างกาย สวมเสื้อมีแขน สวมหมวกหรือเนตคลุมผม และผ้ากันเปื้อนทุกครั้ง ตัดเล็บสั้น หากสวมหน้ากากอนามัยด้วยจะดีมาก หากผู้ประกอบอาหารมีบาดแผลที่มือ ต้องปิดบาดแผลและสวมถุงมือให้มิดชิด ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว แยกเขียงอาหารสุกและอาหารดิบ ทั้งนี้ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีรถเข็นหรือแผงลอยสำหรับขายอาหารประเภทต่างๆ จำนวน 103,063 ราย ขณะนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว จำนวน 86,913 ราย คิดเป็นร้อยละ 84 และคาดว่าในปี 2556 นี้ จะเพิ่มให้เป็นร้อยละ 85 ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือแผงลอยที่ต้องการปรับปรุงร้านให้ได้มาตรฐาน ติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานเทศบาลทุกแห่ง กองสุขาภิบาลอาหาร กทม.สำนักงานเขต กทม.ทั้ง 50 เขต

หนุ่มแขวงการทางยะลาสารภาพแล้ว เผาซีซีทีวีกลางเมือง

หนุ่มแขวงการทางยะลาสารภาพแล้ว เผาซีซีทีวีกลางเมือง
เจ้าหน้าที่แขวงการทางยะลาสารภาพแล้ว ลอบเผากล้องวงจรปิดในเมือง ขณะเจ้าหน้าที่นำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ...เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 7 มี.ค.56 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเมืองยะลา เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 ได้ร่วมกันนำตัว นายอัสมาน กาเจ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20 ม.2 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ผู้ต้องหาเผากล้องทีวีวงจรปิด จำนวน 2 ตัว ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ยะลา ได้เข้าตรวจค้นที่บ้านพักสำนักงานแขวงการทางยะลา และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 3 ราย คือ นายมะเสาพี ดอแม อายุ 26 ปี นายอาซูวัน กาเจ อายุ 29 ปี และนายอัสมาน กาเจ อายุ 24 ปี โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ต่อมาหลังจากที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว เจ้าหน้าที่ได้แยกตัวทั้ง 3 คน ไปซักถาม โดยนายมะเสาพี และนายอาซูวัน เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปซักถามที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ส่วน นายอัสมาน กาเจ ถูกนำตัวไปสอบถามที่หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 ซึ่งปรากฏว่า นายอัสมานได้ให้การรับสารภาพว่า เป็นคนก่อเหตุลอบเผากล้องทีวีวงจรปิดจำนวน 2 จุด คือกล้องวงจรปิดหลังโรงเรียนเทศบาล 5 เขตเทศบาลนครยะลา และโรงเรียนอิสลาฮียะห์ หรือปอเนาะฮียะห์ บ้านนิบงบารู ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา นอกจากนั้นนายอัสมานยังให้การอีกว่า ได้รับคำสั่งจาก นายมะเสาพี เป็นผู้สั่งการให้เผากล้องวงจรปิดดังกล่าว และก่อนหน้านี้ นายมะเสาพี เป็นผู้นำไปทำซุมเป๊าะ (สาบานตน) เพื่อเข้าร่วมขบวนการเปอร์มูดอ บารู.

กรุงเก่าเรียกโรงงานถกรับมือไฟดับ หวั่นเหตุสุดวิสัย

กรุงเก่าเรียกโรงงานถกรับมือไฟดับ หวั่นเหตุสุดวิสัย
อยุธยาเตรียมรับมือวิกฤติไฟฟ้าดับช่วงพม่าหยุดซ่อมท่อก๊าซ เรียกผู้ประกอบการนิคมฯ ถก กฟผ.ยันมีเพียงพอ หวั่นเหตุสุดวิสัยขอความร่วมมือเร่งผลิตสินค้าก่อนล่วงหน้า และลดกำลังผลิตสินค้า ป้องกันไฟไม่เพียงพอกระทบส่งออก...เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2556 น.ส.ลักขณา เมี้ยนกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสภาอุตสาหกรรม ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากไฟดับเป็นบริเวณกว้าง กรณีพม่าหยุดซ่อมแซมท่อก๊าซนายจิรศักดิ์ จิระวารี วิศวกรระดับ 11 โรงไฟฟ้าวังน้อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การหยุดส่งก๊าซของพม่า อาจส่งผลกระทบให้แรงดันไฟฟ้าในพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลบางจุดต่ำกว่าปกติ ดังนัั้นเพื่อแก้ไขปัญหา ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้เตรียมการที่จะเปลี่ยนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบางแห่ง ไปใช้น้ำมันเตาและดีเซลแทน และยังเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเพิ่มกำลังผลิตโรงไฟฟ้าต่างๆ โดยคาดการณ์ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในช่วงวันดังกล่าวยังคงเพียงพอต่อความต้องการ สามารถใช้ไฟฟ้าได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาประมาณ 14.00-15.30 น.และช่วงเวลา 18.30-21.00 น.ในวันที่ 5 วันที่ 9-11 เม.ย.จะเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือต่ำกว่าปกติ อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอ หรือมีเหตุสุดวิสัยซ้ำซ้อน เช่น มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขัดข้องในช่วงเวลานั้น เป็นต้น ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ให้เร่งผลิตสินค้าก่อนที่พม่าจะหยุดซ่อมท่อก๊าซ หรือลดกำลังผลิตสินค้า เพื่อป้องกันปัญหาการใช้กระแสไฟฟ้าในช่วงนั้น เพราะหากเกิดปัญหาการจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือกำลังไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอจนทำให้ไฟฟ้าดับ อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกของบริษัทได้ 

Blog Archive