Monday, January 7, 2013

ซัด ยุบองค์กรอิสระ หวังรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

ซัด ยุบองค์กรอิสระ หวังรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ
“จุรินทร์” ประธานวิปฝ่ายค้าน ซัดรัฐแก้ รธน.ยุบองค์กรอิสระ มุ่งสู่การปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เอื้อทุนสามานย์ ดักคออย่าแปลงสารประชามติ หวังช่วยคนพิเศษของรัฐบาล...วันที่ 8 ม.ค. ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดูตามแนวทางของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแล้ว ทั้งจากที่ประชุมพรรค ผู้มีบทบาทสำคัญของรัฐบาล รวมถึงอนุกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญสภาผู้แทนราษฎร สะท้อนความคิดว่า กำลังนำประเทศไปสู่การปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นประชาธิปไตยแบบกินรวบ ประชาธิปไตยแบบสามานย์ หรือทุนสามานย์ กลัวการตรวจสอบ ข้อเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยกเลิกกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจได้มากขึ้น การกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาจาการคัดเลือกของรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่องค์กรเหล่านี้ต้องตรวจสอบฝ่ายบริหารฝ่ายการเมืองนายจุรินทร์ กล่าวว่า การกำหนดทิศทางเช่นนี้ ก็หวังจะให้มารับใช้ฝ่ายการเมือง แทนที่จะมาตรวจสอบผลที่ตามมาคือ ต่อไปการทุจริตคอรัปชัน การใช้อำนาจรัฐ การโกงเลือกตั้ง จะทำได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะข้อเสนอให้โละมาตรา 309 ถือว่าหางโผล่ แม้จะอ้างอย่างไร ก็ลบวาระการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนพิเศษทิ้งไปไม่ได้ สิ่งที่สังคมกังวลกำลังปรากฏเป็นจริง รวมถึงการทำประชามติที่ขณะนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่นอกจากการทำประชามติ เพื่อให้ได้ข้อยุติแล้ว ยังมีแนวทางที่จะทำประชามติแบบขอคำปรึกษา สะท้อนว่าเริ่มปรากฏเค้าลางว่าจะทำแบบหลัง ซึ่งฝ่ายค้านจะจับตาไม่กะพริบ ยืนยันว่า ต้องทำประชามติแบบหาข้อยุติ จึงจะนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้.

พธม.จี้ นายกรัฐมนตรี ประกาศไม่รับอำนาจศาลโลก

พธม.จี้ นายกรัฐมนตรี ประกาศไม่รับอำนาจศาลโลก
กลุ่มพันธมิตร บุกยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประกาศจุดยืนไม่รับอำนาจศาลโลก ปมตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร รวมทั้งจะต้องไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ของประเทศไทย...วันนี้ (8 ม.ค.56) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม. เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ปฏิเสธอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และให้รักษาอธิปไตยของไทย กรณีการตัดสินข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารกับประเทศกัมพูชา โดยมีการยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่มีอำนาจตีความคดีดังกล่าว และไทยจะไม่รับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยของประเทศไทย 2.รััฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก และไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย 3.รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นหลักประกันว่า จะไม่มีประเทศใดเข้ามาใช้อำนาจในการละเมิดอธิปไตยของชาติ 4.ให้อาศัยบทบัญญัติสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 7 ให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องภายในอธิปไตยของไทย และให้รัฐบาลยืนยันตามกฎบัตรอาเซียน เรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิกอาเซียน5.รัฐบาลไทยจะต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก   6.รัฐบาลไทยต้องหยุดการใช้นักวิชาการที่กระทรวงการต่างประเทศว่าจ้าง โฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐ เพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา 7.ให้รีบช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ซึ่งถูกจำคุกอยู่ในประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ทางกลุ่มพันธมิตรก็จะถือว่ารัฐบาลมีเจตนาขายชาติ และต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ หากทำให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตย ซึ่งทางกลุ่ม พธม. ก็จะมีการยกระดับการชุมนุมเพื่อคัดค้านคำสั่งของศาลโลกต่อไป

เผยคนโคราชว่างงานแค่ 0.6% โรงงานเสนอค่าแรงสูงกว่า300

เผยคนโคราชว่างงานแค่ 0.6% โรงงานเสนอค่าแรงสูงกว่า300
แรงงานจังหวัดนครราชสีมาเผย อัตราผู้ว่างงานในโคราชมีเพียง 0.6% ขณะที่ตำแหน่งงานว่างมีมากกว่า 1 หมื่นอัตรา เป็นเหตุให้โรงงานหลายแห่งเสนอค่าแรงสูงกว่า 300 บาท หวังแย่งพนักงานที่มีจำนวนจำกัด...เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ม.ค. 2556 ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ แรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานภายใน จ.นครราชสีมา ว่า ปัญหาของ จ.นครราชสีมา ช่วงนี้คือการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาจากผลกระทบการขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่ที่มีข่าวโรงงานปิด 5-6 แห่ง และลอยแพแรงงานกว่า 1 พันคนนั้น เกิดจากวิกฤติยูโรโซน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานแล้ว จึงทำให้ไม่มีการสั่งออเดอร์เข้ามา ดังนั้น โรงงานต่างๆ จึงต้องลดค่าใช้จ่ายลงด้วยการลดจำนวนพนักงาน หรือยุบรวมกิจการไว้ที่เดียว ซึ่งทางสำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมาก็ได้เข้าไปช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้นมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องของสวัสดิการว่าได้รับการชดเชยถูกต้องหรือไม่ หรือผู้ที่ต้องการทำงานใหม่ ทางจัดหางานจังหวัดก็ได้หาตำแหน่งงานว่างมาเสนอให้ ในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีศักยภาพตรงกับตำแหน่งงานใหม่ ก็จะมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ อ.สีคิ้ว เข้าไปดำเนินงานฝึกทักษะให้ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้แรงงาน ว่ามีความประสงค์จะทำงานต่อ หรือต้องการจะเป็นผู้ประกอบการอิสระ สำหรับสถานการณ์ผู้ว่างงานใน จ.นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ที่ 0.6% หรือประมาณ 10,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขปกติของทุกปี ถึงแม้ว่าตำแหน่งงานว่างที่มีการแจ้งมาในสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา จะมีประมาณ 4,000 อัตรา แต่ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะยังมีหลายโรงงานที่ใช้ศักยภาพของตน ปิดป้ายประกาศตามข้างถนน และมีการเปิดเว็บไซต์รับสมัครงานทางอินเทอร์เน็ตเองโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ค่าแรงเกิน 300 บาทต่อวัน และโรงงานบางแห่งรับสมัครครั้งละหลายพันอัตราด้วย ดังนั้น จึงคาดตัวเลขผู้ว่างงานที่แท้จริงจะมีกว่า 10,000 อัตรา ซึ่งปัญหาในขณะนี้ ตนก็กังวลอยู่เรื่องเดียว คือการขาดแคลนแรงงาน โดยบริษัทหลายแห่งหาพนักงานเพิ่มไม่ได้ จึงกำลังมีความต้องการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานที่มีอยู่ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวัง และให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ การเพิ่มศักยภาพของผู้ใช้แรงงาน และเรื่องเงินกู้ที่ทางสำนักงานประกันสังคมให้กู้ยืม หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดมีความต้องการใช้บริการ หรือขอคำปรึกษา ทางสำนักงานแรงงานจังหวัดก็มีศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือทุกเรื่อง ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีใน จ.นครราชสีมา มาขึ้นทะเบียนกับสภาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 700 ราย แต่ยังไม่มีผู้ประกอบการใดแจ้งความประสงค์มาอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ความช่วยเหลืออย่างไร มีเพียงข้อมูลจากแบบสอบถามที่ทางสำนักงานแรงงานจังหวัดส่งไปตามสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องการเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้แรงงาน เรื่องนี้ก็เข้าใจว่าเมื่อขึ้นค่าแรงให้วันละ 300 บาทแล้ว ผู้ประกอบการก็ย่อมคาดหวังศักยภาพที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน นางเธียรรัตน์ กล่าว.

Blog Archive