Monday, January 14, 2013

สร้างทักษะชีวิตให้เยาวชน

สร้างทักษะชีวิตให้เยาวชน
                มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย จัดกิจกรรม "ค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชน" เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในปี พ.ศ.2547 และเด็กด้อยโอกาสใน จ.พังงา                นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ เมื่อเดือนธันวาคม 2547 ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน มีผู้ประสบพิบัติภัยสึนามิจำนวนมากที่ได้รับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสูญเสียครอบครัว บางครอบครัวเหลือเพียงเด็กๆ ไว้ พ่อ แม่ พี่น้องเสียชีวิตทั้งหมด กลายเป็นเด็กกำพร้าไร้ที่พึ่ง                บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิด้วย ภายใต้การดูแลของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กับกิจกรรม "ค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชน ครั้งที่ 7" ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เตรียมพร้อมสู่อนาคตที่สดใส" (Get Ready for the Future) เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสสำรวจค้นหาตนเอง และเสริมสร้างทักษะชีวิตเตรียมความพร้อมสู่อนาคตที่สดใส พร้อมกับพัฒนาภาวะผู้นำ และร่วมทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนชุมชนคืนประโยชน์สู่สังคม โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 50 คน จาก 7 โรงเรียน ที่ได้รับการอุปการะจากมูลนิธิ                กิจกรรมครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสำหรับเด็ก ผศ.ดร.มนัสนันท์ หัตถศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ ที่ใช้กระบวนการละครเป็นเครื่องมือในสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็ก นำโดย อาจารย์ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ และอาจารย์ทวีรัตน์ กำเนิดเพชร รวมถึงพิธีกรชื่อดัง "น้าเน็ก" เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เป็นวิทยากรพิเศษร่วมทำกิจกรรมบรรยายเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตให้แก่เยาวชนในโครงการ                มร.คริสเชียน มาลเฮอร์บี กรรมการบริหารมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุภัยพิบัติสึนามิตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ต่อมาปี 2549 คณะกรรมการบริหารมูลนิธิไฟเซอร์ได้เล็งเห็นว่า การสนับสนุนด้านการศึกษาจำเป็นต้องมีอย่างต่อเนื่อง จึงทำงานร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ริเริ่มโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาและกิจกรรมเสริมทักษะนอกห้องเรียนให้แก่เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ รวมทั้งขยายโอกาสไปยังเด็กและเยาวชนในพื้นที่เดียวกันที่ด้อยโอกาสจำนวน 100 คน                กิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนจัดต่อเนื่อง ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้ว เยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมล้วนอยู่ในระดับชั้นมัธยม ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต มีความอยากรู้อยากเห็นอยากลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเพศ ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัว อีกทั้งมีเด็กจำนวนมากเข้าใจว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่าอาย จึงไม่กล้าปรึกษาใคร จนเกิดเป็นความเข้าใจความเชื่อและการปฏิบัติที่ผิดจนเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง จึงควรให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง "เพศวิถี" อย่างถูกต้องเหมาะสมกับวัย โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมทำกิจกรรมกับเด็กอย่างใกล้ชิดอย่างบางเพลย์ ซึ่งใช้ละครเป็นสื่อในการเข้าถึงให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์จากการได้ลองเล่นบทบาทสมมุติที่อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์เพื่อนำสาระความรู้ดีๆ ที่ได้มาใช้พัฒนาตนเอง                น.ส.ชฎาธาร บุณกมลโรจน์ หรือ น้องผึ้ง (จ.พังงา) หนึ่งในเยาวชนที่ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากมูลนิธิไฟเซอร์ บอกว่า "ปัจจุบันอายุ 18 ปีแล้ว ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ตอนที่เกิดเหตุสึนามิ อยู่ ป.5 ได้รับคัดเลือกจากทางมูลนิธิไฟเซอร์ ให้ได้รับทุนการศึกษาจนถึงระดับชั้น ม.6 และเข้าร่วมกิจกรรมของมูลนิธิไฟเซอร์ ทุกปี ได้รับความรู้และฝึกทักษะต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาตนเอง จากเมื่อก่อนขี้อาย ตอนนี้กล้าพูดและกล้าแสดงออกมากขึ้น ขอบคุณมูลนิธิไฟเซอร์ ที่ให้โอกาสพวกเราได้รับประสบการณ์ดีๆ ซึ่งในแต่ละครั้งที่ได้เข้าค่ายเยาวชนจะได้รับความรู้ที่แตกต่างกันออกไป สามารถที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้"                นายชลากร สุกใส หรือ น้องฟลุค อยู่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา บอกว่า "เข้าโครงการตั้งแต่ ป.4 ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.6 หลังจากประสบภัยสึนามิ ทางมูลนิธิไฟเซอร์ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านทุนการศึกษา รวมทั้งค่ากิน ค่าเสื้อผ้า จ่ายค่าเทอม ทำให้มีโอกาสได้รับการศึกษาจนถึงระดับชั้น ม.6 จากที่เดิมไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนแล้ว ก็ต้องขอบคุณทางมูลนิธิไฟเซอร์ที่เห็นความสำคัญของเยาวชนตัวเล็กๆ ที่ด้อยโอกาสให้กลับมามีอนาคตที่ดีขึ้น"                นอกจากนี้เยาวชนจะได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้คืนป่า ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนจากการได้ใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อันถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือ "การปลูกฝังให้เยาวชนทุกคนรู้จักการให้ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น และรู้จักตอบแทนสังคม"                ผศ.ดร.มนัสนันท์ หัตถศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสำหรับเด็ก กล่าวว่า "เยาวชนควรมีการตั้งเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอาชีพก็จะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินชีวิต เพราะการตั้งเป้าหมายนั้นจะเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจและความพยายามในการทำงานดังนั้นการแสวงหาเป้าหมาย และการค้นหาให้พบว่า เป้าหมายที่ตนเองตั้งนั้นเหมาะสมกับตนเองเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการเลือกอาชีพสำหรับวัยรุ่นนั้นมีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบหลายประการคือ ความถนัด ความชอบ ความสนใจ ความสามารถ รวมถึงวิถีในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการจัดกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนค้นหาและเข้าใจตนเองสามารถตั้งเป้าหมายโดยใช้กระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นการตอบสนองลักษณะของเยาวชน ซึ่งเป็นวัยรุ่น คือจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น"

สุภีดันสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ

สุภีดันสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ
               องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวงโสกพระ อ.พล จ.ขอนแก่น มีเขตปกครองทั้งหมด 14 หมู่บ้าน และมีประชากรประมาณ 7,000 คน ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินดอน ปัญหาของพื้นที่จึงหนีไม่พ้นเรื่องน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร เพราะชาวบ้านในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เป็นอาชีพหลักและรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริม                 "สุภี ทองมีค่า" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวงโสกพระ เล่าว่า ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต.หนองแวงโสกพระ เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน โดยนั่งบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนี้มาเป็นเวลานานนับสิบปี จึงรู้ปัญหาของท้องถิ่นเป็นอย่างดี ปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่ประสบทุกปี คือ เรื่องน้ำเพื่อการเกษตร เพราะคนในพื้นที่มีอาชีพหลักคือ ทำนา และที่ผ่านมาสามารถทำนาได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น หากในพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำหรือมีคลองชลประทานไหลผ่านก็จะช่วยให้ชาวบ้านทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง                ในพื้นที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่หลายแห่ง ทั้งลำห้วยลึก ลำห้วยกุดปลาจ่อย และลำห้วยแอก ซึ่ง อบต.หนองแวงโสกพระ ได้ประสานงานของบประมาณจากสำนักงานชลประ ทานจังหวัดขอนแก่นมาขุดลอกลำห้วย เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้ ซึ่งปัจจุบันชลประทานจังหวัดขอนแก่นได้ขุดลอกลำห้วยเสร็จแล้ว และมีน้ำในลำห้วยอยู่พร้อม แต่มีปัญหาพื้นที่นาของชาวบ้านอยู่ห่างไกลจากลำห้วยเกินไป หากสูบน้ำเข้านาก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกมาก                นายก อบต.หนองแวงโสกพระ เล่าต่อว่า นอกจากนี้ยังประสานงานสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 กรมทรัพยากรน้ำ เพื่อให้จัดสรรงบสร้างอ่างเก็บน้ำหนองเลิงเบน ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจและเริ่มลงมือก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองเลิงเบนแล้ว แม้จะสร้างแค่พื้นที่ 20 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 90 ไร่ ถ้าสร้างเสร็จคงจะบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้มากและอาจทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้มากขึ้น จากเดิมที่ปลูกได้เฉพาะพืชอายุสั้น เช่น ผักกาด แตงกวาและอื่นๆ                 อีกปัญหาที่ อบต.หนองแวงโสกพระประสบอยู่ปัจจุบันคือ เรื่องงบประมาณ แต่ละปีได้รับการจัดสรรงบจากกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นปีละ 21 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่งบประมาณจะหมดไปกับรายจ่ายประจำ อย่างเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างพนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และอื่นๆ แต่ละปีจึงเหลือเงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ปรับปรุงถนนหนทางในการสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านภายในพื้นที่ อบต.แค่ปีละ 3-4 ล้านบาทเท่านั้น   ...................................... (ดันสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ช่วยเหลือเกษตรกรพท. : คอลัมน์คนดังท้องถิ่น : โดย...นายคลองหลอด )  

ศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุวัดกลาง

ศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุวัดกลาง
                โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไร้ที่พึ่ง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตแก่ราษฎร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง ให้ได้รับการเอาใจใส่ดูแลด้านสุขภาวะอนามัย ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งวัดกลาง อ.บางปลาม้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตแก่ราษฎร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง ให้ได้รับการเอาใจใส่ดูแลด้านความเป็นอยู่อย่างทั่วถึง                "ประพันธุ์ บุญคุ้ม" นายอำเภอบางปลาม้า ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งวัดกลาง เล่าว่า สภาพสังคมปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น อันเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ทำให้ประชาชนอายุยืนยาว แต่มีผู้สูงอายุอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่น้อยที่อายุยืนยาวแต่ไร้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ขาดผู้ดูแล ทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างลำบาก จากสภาพการณ์ดังกล่าวนำไปสู่มุมมองในอนาคต สำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่ขาดผู้อุปการะดูแลหรือประสบปัญหาครอบครัว                จังหวัดสุพรรณบุรี โดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ด้วยข้อเสนอของพระวิมลภาวนานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.บางปลาม้า อดีตเจ้าคณะอำเภอบางปลาม้า ได้มีแนวคิดนำเอาอาคารโรงเรียนวัดกลางที่ได้ประกาศยกเลิกในปี 2551 มาจัดตั้งบ้านพักคนชรา ชื่อ "ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งวัดกลาง" โดยเริ่มปรับปรุงอาคาร สถานที่ ปรับสภาพภูมิทัศน์ภายในบริเวณเนื้อที่ 10 ไร่ 93 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2552 โดย บูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เช่น จังหวัด สภากาชาดไทย สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และวัดกลาง                ถือฤกษ์เปิดดำเนินการรับผู้สูงอายุที่ขาดการอุปการะดูแล เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันแม่แห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจังหวัดสุพรรณบุรี" โดยมีที่ตั้ง ณ เลขที่ 9 หมู่ 6 ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานศูนย์ขึ้นคณะหนึ่ง ผู้สูงอายุที่พักอาศัยในศูนย์มี 2 ประเภท คือ ผู้สูงอายุที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูหรือประสบปัญหาทางครอบครัว จะรับเข้ามาดูแลและโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น มีผู้ดูแล 24 ชั่วโมง มีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลบางปลาม้า ในการดูแลด้านสุขภาพ อีกประเภทคือ ผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ แต่ประสงค์เข้าพักอาศัยภายในบ้านพัก โดยเสียค่าตอบแทน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ต้องอุปการะดูแล เข้ารับบริการอยู่ 15 คน ชาย 7 คน หญิง 8 คน โดยบ้านพักที่เสียค่าตอบแทนมี 2 หลัง                ประพันธุ์ เล่าต่อว่า ศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ.สุพรรณบุรี แห่งนี้ เป็นที่ตั้งที่เหมาะสมอยู่ทำเลหน้าติดทางหลวงแผ่นดินสาย 340 (ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี) ด้านหลังติดแม่น้ำท่าจีน มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด สวยงาม ด้านข้างติดวัดกลางเหมาะในการเดินทางทำบุญและปฏิบัติธรรม ด้านตรงข้ามเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอและอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางปลาม้าเพียง 800 เมตรเท่านั้น                 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดป้ายและตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุของศูนย์นี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระเมตตาและทรงให้ความสำคัญแก่การดูแลผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาขาดผู้อุปการะดูแล ซึ่งเห็นว่าศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ.สุพรรณบุรี แห่งนี้ จะเป็นต้นแบบในการดูแลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขช่วงท้ายของชีวิต เพราะนอกจากจะได้รับการดูแลแล้ว ยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมาก เช่น ออกกำลังกาย ปฏิบัติธรรม การทำสิ่งของเพื่อจำหน่ายหารายได้ยามว่าง นอกจากนี้สำนักงานเหล่ากาชาดสุพรรณบุรีจะมาจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพ จัดเลี้ยงอาหารและนันทนาการเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง                ศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ.สุพรรณบุรี นับเป็นศูนย์ต้นแบบในการบูรณาการของหลายหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินงาน เพื่อผู้สูงอายุโดยแท้ ขณะนี้ยังรองรับผู้สูงอายุได้จำนวนหนึ่ง คาดว่าอนาคตอันใกล้นี้น่าจะขยายการดำเนินงานออกไปอีก ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาชีวิตขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมสนับสนุน สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์หรือที่โทรศัพท์หมายเลข 0-3558-6468    .............................................. (ศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุวัดกลาง ที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของคนแก่  : โดย...วัฒนพล มัจฉา)  

Blog Archive