Monday, February 4, 2013

ท่องศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน

ท่องศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน
                กว่า 30 ปีที่ศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนได้ก่อกำเนิดขึ้นมาภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีภารกิจสำคัญในด้านการศึกษา วิจัย ทดสอบ พัฒนาด้านพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการผลิตข้าวและธัญพืชเมืองหนาว  ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง   ตลอดจนร่วมปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพิเศษต่าง ๆ                 "ท่องโลกเกษตร"ตามคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย"อภิชาติ พงษ์ศรีอดุลชัย"ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯและชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ" อธิบดีกรมการข้าวพาไปดูความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์วิจัยข้าวแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บ้านท่าไคร้ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เดิมคือศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำลาง(ปางมะผ้า) จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2522 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว                 จากนั้นในปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานพระราชดำริให้กองทัพภาค1 และ 3 ตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลางตามพระราชดำริ   จากนั้นในปี 2525  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการ                 ก่อนที่กองทัพภาคที่3 ส่งมอบโครงการฯให้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกรมวิชาการเกษตรในปีต่อมา พร้อมได้จัดตั้งเป็นสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า สังกัดสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร  โดยในปี 2549 จึงได้ปรับเปลี่ยนภารกิจเป็นศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนถึงปัจจุบัน                  โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 560-570 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มหุบเขา ที่เหลือเป็นภูเขาและป่าไม้ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 310 ไร่ แบ่งเป็นอาคารสิ่งก่อสร้างและถนน 70 ไร่ แปลงทดลองและแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 185 ไร่ เส้นทางน้ำ 15 ไร่และพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกประมาณ 40 ไร่   มีลักษณะพื้นดินเป็นดินร่วมปนทราย  อุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางถึงค่อนข้างสูง ในฤดูฝนจะอาศัยน้ำฝน ส่วนฤดูแล้งอาศัยน้ำจากฝายทดน้ำของกรมชลประทาน                   "ปัจจุบันที่นีมีผลงานวิจัยเด่นอยู่ 3 อย่างคือ ข้าวสาลี ข้าวญี่ปุ่นและข้าวไร่ ข้าวสาลีนี่มีอยู่ 6 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรคือ ฝาง60 ข้าวญี่ปุ่นใช้เพื่อเป็นพืชทางเลือกที่จะปลูกร่วมกับระบบข้าวไร่ ส่วนข้าวไร่ชาวบ้านจะนิยมปลูกในพื้นที่นาระบบขั้นบันได มีอยู่ 2 สายพันธุ์คือเจ้าขาวและเจ้าฮ่อ"ชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าวเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแปลงวิจัยข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ                  อธิบดีกรมการข้าว เผยต่อว่าสำหรับสำหรับงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนนั้น ขณะนี้ดำเนินการอยู่ด้วยกัน 13 โครงการ เช่นโครงการวิจัยและพัฒนาข้าวไร่ในภาคเหนือระยะที่ 2 ซึ่งทำการวิจัยร่วมกับกลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน จนได้ข้าวไร่สายพันธุ์ดีเด่นสายพันธุ์ SPT92029 - PMP - 3 - 10 - 1 เป็นข้าวเจ้าไวต่อแสงอย่างอ่อน ผลผลิตเฉลี่ย 380 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ข้าวเจ้าขาวร้อยละ 21 และสูงกว่าพันธุ์เจ้าลีซอร้อยละ 32 เมล็ดเรียวยาว เปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว ท้องไข่น้อย ปริมาณแอมีโลสต่ำ ส่วนข้าวที่หุงสุกจะมีลักษณะอ่อนนุ่มและมีกลิ่นหอม                 "จากการรวบรวมพันธุ์ข้าวนาที่สูงในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนตามโครงการวิจัยและพัฒนาข้าวนาที่สูงในภาคเหนือตอนบนระยะที่ 2 พบว่าพันธุ์ละอูบ(PMPC95009) เป็นข้าวนาที่สูงที่มีลักษณะดี จึงได้มาปลูกคัดเลือกแบบ mass selection ศึกษาพันธุ์เปรียบเทียบผลผลิตและปลูกทดสอบในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนกระทั่งได้ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงสูงประมาณ 124 เซนติเมตร ผลผลิตเฉลี่ย 500 กก./ไร่ ถ้าเป็นข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนข้าวสารมีสีขาว ท้องไข่น้อย ข้าวสุกร่วนไม่แข้งกระด้าง และไม่หอม"                 ชัยฤทธิ์ยอมรับว่าข้อดีของข้าวสายพันธุ์นี้คือต้านทานโรคไหม้ในสภาพธรรมชาติและปรับตัวได้ในสภาพพื้นที่นาที่ขังน้ำได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ สำหรับพื้นที่แนะนำให้ปลูกคือนาที่สูงที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 800-1,100 เมตรหรือนาขั้นบันไดที่ปรับใหม่เริ่มขังน้ำได้ ปัจจุบันได้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินในลุ่มน้ำของอ.ปางมะผ้า โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินล่ำน้ำแม่สะงา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โครงการธนาคารอาหารชุมชน(food bank)อ.เมืองแม่ฮ่องสอนและโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนบ้านแกงหอมม้ง ต.เมืองแปง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน รวมพื้นที่ประมาณ 150 ไร่                 ขณะที่ ศิวพงศ์ นฤบาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข่าวแม่ฮ่องสอนกล่าวเสริมว่าในส่วนของการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีนั้น ขณะนี้ได้ข้าวสาลีสายพันธุ์เด่นจำนวน 6 สายพันธุ์ได้แก่ สะเมิง1 สะเมิง2 ฝาง60 แพร่60 อินทรี1และอินทรี2 ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนได้จัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวสาลีในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวง พร้อมกับให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสาลี อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนอีกด้วย                  "ล่าสุดทางศูนย์ฯได้มีการศึกษางาญี่ปุ่นหรือไนเจอร์เพื่อเป็นพืชทางเลือก ซึ่งไนเจอร์เป็นพืชน้ำมันในตระกูลเดียวกับทานตะวัน สามารถนำไปใช้ในการบริโภค เภสัชกรรมและอุตสาหกรรม โดยเมล็ด 4 ถังสามารถผลิตน้ำมันพืชได้ 1 ถัง ส่วนการซื้อขายในตลาดท้องถิ่นอยู่ที่ลิตรละ 100 บาท แต่ถ้าตลาดทั่วไป 250 บาท ส่วนเมล็ดขายได้ราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท"ศิวพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย ก่อนพาไปชมแปลงทดลองปลูกข้าวฟ่างและข้าวบาเลย์ ซึ่งปัจจุบันพืชทั้งสองประเภทนี้ได้รับความนิยมจากเกษตรกรน้อยลงเนื่องจากมีปัญหาทางด้านการตลาดนั่นเอง                 นับเป็นอีกก้าวของศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวชนิดต่าง ๆที่เหมาะกับพื้นที่สูง ก่อนนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ต่าง ๆของภาคเหนือต่อไป   ............................................... (ท่องศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน ดูพัฒนาพันธุ์ข้าวเด่น'พื้นที่สูง' : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย... สุรัตน์ อัตตะ)

No comments:

Post a Comment

Blog Archive