Sunday, February 10, 2013

ฝ่าเส้นทางหฤโหดมุ่งสู่ภูพยัคฆ์

ฝ่าเส้นทางหฤโหดมุ่งสู่ภูพยัคฆ์
               ทีมงาน"ท่องโลกเกษตร" ไปถึงวัดพระธาตุเขาน้อย ก่อนตะวันหลบยอดดอยเพียงเล็กน้อย ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาบอกว่า ต้องไปนมัสการพระธาตุเขาน้อยให้เป็นศิริมงคล ก่อนที่เราจะลุยพื้นที่เกษตรที่สูงในวันรุ่งขึ้น เพราะพระธาตุเขาน้อย เป็นพระธาตุเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2030 สมัยเจ้าปู่แข็ง ถือเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของน่านอีกแห่งหนึ่ง  องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ห่างจากตัวเมื่อน่านไปทางทิศตะวันตกราว 2 กิโลเมตร                  ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า พร้อมกับสร้างวิหารในสมัยนี้เช่นกัน จากนั้นจึงไปหาที่พัก                 อรุณวันใหม่เราออกจากตัวเมืองน่าน ฝ่าม่านหมอกหนาทึบตลอดเส้นทางที่กำหนดไว้ว่า เราจะวนเป็นวงกลม ออกจากเมืองน่านวนไปทางเส้นทางน่าน-ปัว ผ่าน อ.ท่าวังผา เข้าสู่ปัว แวะกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองบัว  ดูการทำสาหร่ายน้ำจืด "ไก"  ของดีโอทอป เมืองน่าน จากนั้นผ่านเส้นทางอันคดโค้งมุ่งหน้าสู่หมายปลายทางไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ ตั้งอยู่ที่ท่ามกลางอ้อมโอบขุนเขาใหญ่น้อยที่บ้านน้ำรี  ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน แหล่งปลูกพืชผักปลอดสารพิษและไม้ผลเมืองหนาว ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด"หม่อนเบอรี่" เป็นหม่อนกินผลสด อัน รสเลิศ และแหล่งผลิตกาแฟอราบิก้า สมกับสโลแกนที่ว่า “เที่ยวภูพยัคฆ์ กินผักปลอดสาร ชมตำนานผู้กล้า ชิมกาแฟรสเลิศ พิชิตยอดภูพยัคฆ์”                 "ภูพยัคฆ์" ตั้งอยู่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร ใกล้ใต้เทือกเขาผีปันน้ำ กั้นรอยตะเข็บระหว่างชายแดนไทย-ลาว หลักกิโลเมตรที่ 30  เดิมเคยเป็นที่ปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะ  กระทั่งปี 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้บริเวณบ้านน้ำรี ต.ขุนน่าน ทรงเห็นว่าผืนป่ามีสภาพถูกบุกรุกถูกแผ้วถางเป็นภูเขาโล้น หรือป่าเสื่อมโทรมนับพันๆไร่ เพราะชาวไทยภูเขาเหล่านี้ทำไร่เลื่อนลอย และทนับวันจะถูกบุกรุกมากขึ้น  จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ขึ้นมา                  เพื่อส่งเสริมอาชีพ จัดทำเป็นแปลงสาธิตตัวอย่าง แนะนำการปลูกผักฤดูหนาว ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และขุดนาขั้นบันไดทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย ให้ราษฎรได้เรียนรู้การใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์ รวมถึงรู้จักการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการผลิตการเกษตรที่ยั่งยืน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และทำให้ช่วยลดพื้นที่ในการทำลายป่าไม้ลงได้เป็นอย่างมาก โดยให้สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ และการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงการทำการเกษตรปลอดสารและครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตและการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร                 ทีมงานไปถึงสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ ใกล้จะมืดค่ำท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น  หลังจากที่ขับรถยนต์ผ่านเส้นทางอันหฤโหดทั้งคดโค้ง และขึ้นเขาลงเนินลูกแล้วลูกเล่า ตั้งแต่ออกจากพื้นที่เขต อ.ปัว ผ่านเส้นทางเฉียดชายแดนไทย-ส.ป.ป.ลาวที่ด่านห้วยโก่น วกไปทาง อ.เฉลิมพระเกียรติใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง และในที่สุดทีมงานตัดสินใจนอนพักค้างที่เรือนรับรองภายในบริเวณที่ตั้งสถานีฯ มี คุณพายัพ  ขันตี เจ้าหน้าที่เกษตร ประจำสถานีฯให้การต้อนรับ โดยที่ไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า                  ในค่ำคืนที่หนาวเย็นเรามีเพื่อนใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวที่ไปกางเต้นท์นอนค้างเพื่อดื่มด่ำความหนาวเหน็บบนยอดภูในยามดึก และแน่นอนที่สุดในค่ำคืนนั้น เรามีเรื่องราวที่พูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆนานากับเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันหลายเรื่อง หลายเรื่อง หลานราว  รวมถึงคุณพายัพ ในฐานะเจ้าของบ้านด้วย ราวกับว่าเราเคยสนิทสนมมายาวนาน                 คุณพายัพ ผู้มากด้วยประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตบนขุนเขาแห่ง เล่าว่า บริเวณที่ตั้งสถานีฯแห่งนี้มีเนื้อที่กว่า 500 ไร่ ครั้งหนึ่งในอดีตเป็นเขตอิทธิพลและการเคลื่อนของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงทำให้ภูพยัคฆ์สมัยนั้นกลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างทหารไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ม แต่หลังจากที่ตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ แล้วชาวบ้านที่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะที่อาศัยอยู่รอบๆ 4 หมู่บ้านด้วยคือบ้านน้ำรีพัฒนา หมู่บ้านน้ำช้างพัฒนา หมู่บ้านห้วยกานต์ และหมู่บ้านกิ่วจันทร์ หันมายึดอาชีพด้านการเกษตร                 ทุกวันนี้สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ จะหน้าที่หลักของสถานีฯ เน้นในการเป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้วามรู้ด้านการเกษตรให้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกหม่อนผลสดเบอรี่ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการส่งเสริมให้ราษฎรเพิ่มพื้นที่ปลูก เพราะหม่อนผลสดเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันจะมีผลผลิตปีละราว 30 ตัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยทางสถานีฯจะรับซื้อหม่อนผลสด เพื่อนำส่วนหนึ่งที่เป็นผลผลิตเกรดเอจะจำหน่ายเป็นผลสด ตกเกรดมีการนำไปแปรรูปเป็นน้ำหม่อนเข้มข้น                 นอกจากจะเป็นหม่อนเบอรีแล้วยังมีการปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า ให้ผลผลิตปีละราว 1.8 ตัน นำไปแปรรูปทำเป็นกาแฟคั่วภายใต้แบรดน์ "ภูพยัคฆ์"  อีกส่วนหนึ่งไปที่ร้านกาแฟสุดภูพยัคฆ์ อยู่ใกล้วิทยาลัยเทคนิคน่าน ขณะที่เกษตรกรอีกส่วนหนึ่งปลูกพืชผักปลอดสารจำพวกกะหล่ำปลีรูปหัวใจ คะน้าเห็ดหอม บล๊อคโคลี่  รวมทั้งการทำนาแบบขั้นบันได  ผลผลิตของชาวบ้านทั้งหมดทางสถานีฯจะเป็นผู้รับซื้อ เพื่อนำมาแปรรูป และส่งขายต่อ โดยมีตลาดหลักที่ร้านภภูพยัคฆ์ใน อ.เมือง จ.น่าน อีกส่วนหนึ่งส่งไปยัง จ.เชียงราย โครงการหลวงเพื่อสินค้าดอยคำ เป็นต้น                 ตอนสายของวันใหม่ ม่านหมอกเริ่มเจิดจาง เราอำลาภูพยัคฆ์มุ่งสู่ อ.บ่อเกลือ  เป้าหมายไปยังศูนย์พัฒนาภูฟ้า ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชขสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และหมู่บ้านชนเผ่า"มลาบรี" หรือที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า "มะบลิ" ที่ยังวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้                  หากสนใจดูงานเกษตรที่สูงเมืองน่าน เพลิดเพลินความสวยงามของดอกภูคาป่าแห่งเดียวในสยาม รวมถึงเสี้ยวดอกขาว และสัมผัสวิถีชีวิตชนเผ่าลั๊วะ และมลาบรี ทางสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทสไทย จัดโครงการเกษตรทัศนศึกษาไปยัง จ.น่าน ดินแดนที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา  3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2556 สอบถามได้ที่โทร.0-2940-5425-6     .................................... (ฝ่าเส้นทางหฤโหดมุ่งสู่'ภูพยัคฆ์'ดูเกษตรที่สูงในอ้อมโอบขุนเขา : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...ดลมนัส  กาเจ)                 

No comments:

Post a Comment

Blog Archive