Wednesday, February 6, 2013

ย้อนรำลึกผู้กล้าขุนสรรค์

ย้อนรำลึกผู้กล้าขุนสรรค์
                เมื่อพลิกประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งราว 200 ปีเศษ พบชาวบ้านคนหนึ่งเป็นชาวเมืองสรรคบุรี ได้สร้างเกียรติยศชื่อเสียงไว้เป็นที่เลื่องลือ จนปัจจุบันพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า ชาวเมืองสรรคบุรีนั้น กล้าหารชาญชัยยิ่งนัก ยอมเสียสละแม้ชีวิต สู้กับข้าศึกเพื่อแผ่นดินเกิด โดยรวมตัวกันไปร่วมกับชาวบ้านค่ายบางระจัน ต่อสู้กับพม่าข้าศึกผู้รุกราน หนึ่งในจำนวนนั้นมี ขุนสรรค์ ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกเข้ารบพุ่งกับข้าศึกได้รับชัยชนะทุกครั้ง                กล่าวคือ เมื่อเดือนสาม ปีระกา พุทธศักราช 2308 หรือประมาณ 200 ปี พม่าได้กรีธาทัพเข้าตีหัวเมืองน้อยใหญ่แตกพ่ายกระทั่งไปหยุดยั้ง ณ หมู่บ้านค่ายบางระจัน ข้าศึก มิอาจฝ่าแนวต้านของชาวบ้านที่จับอาวุธขึ้นสู้ปกป้องมาตุภูมิ คนไทยครั้งนั้นที่รวมตัวกันได้ 400 คน ด้วยเลือดรักชาติและหวงแหนแผ่นดิน ทุกคนสู้รบจนนาทีสุดท้าย และท้ายที่สุดเหล่านักสู้ผู้กล้า ทุกคนพลีชีพ เสียสละชีวิตฝากเกียรติประวัติไว้ให้ลูกหลานเทิดทูนมาจนปัจจุบัน  ใครคือหัวหน้าคนไทยกลุ่มนั้น และมีอะไรเกิดขึ้นช่วงระหว่างกรุงศรีอยุธยาใกล้แตก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังเสือไทยรบพม่า ตอนหนึ่งทรงเล่าไว้ว่า ชาวบ้านรวบรวมชายฉกรรจ์ 400 คน มีหัวหน้าชื่อ ขุนสรรค์ คนหนึ่ง นายพันเรือง กำนัน คนหนึ่ง นายทองเหม็น คนหนึ่ง นายจัน หนวดเขี้ยว คนหนึ่ง และนายทอง แสงใหญ่ คนหนึ่ง ช่วยกันตั้งค่ายขึ้นแล้วนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งวัดเขานางบวช ซึ่งชาวบ้านนับถือว่าเป็นเกจิผู้มีวิทยาคมแก่กล้าคงกระพันมาเป็นขวัญกำลังใจ ทุกครั้งที่ชาวบ้านออกรบพระอาจารย์ธรรมโชติจะให้ทุกคนลงอาบน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น ปรากฏว่าชาวบ้านต่อสู้เอาชนะข้าศึกได้ทุกครั้ง จนข้าศึกเกรงกลัวฝีมือการรบพุ่งของคนไทยยิ่งนัก                นายจำลอง โพธิ์สุข ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า งานบวงสรวงขุนสรรค์ ทางจังหวัดจัดให้เป็นงานประจำปีของทุกปี ซึ่งเมื่อย้อนหลังประวัติศาสตร์นับพันปีตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยกรุงสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองสรรคบุรีได้รับการสถาปนาเป็นเมืองลูกหลวง ที่ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของชัยนาทที่สำคัญหลายด้าน ทิ้งหลักฐานปูชนียสถานอันทรงคุณค่าและประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้ศึกษาหาความรู้ เช่น องค์พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองของวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อหลักเมืองและหลวงพ่อสรรคสิทธิที่ประดิษฐานในวิหารเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนทั่วไป อีกทั้งพระเจดีย์เหลี่ยมทรงสูงสมัยอู่ทองที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยของวัดพระแก้ว ที่มีหลวงพ่อฉาย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาและวีรกรรมขุนสรรค์ ซึ่งประวัติศาสตร์ความเป็นมาสันนิษฐานได้ว่า ขุนสรรค์ เป็นชาวเมืองสรรค์บุรีโดยแท้                ดังนั้นชาวเมืองสรรค์บุรีจึงไม่เคยลืมวีรกรรมของขุนสรรค์ ต่างยกย่องเทิดทูนไว้ว่า เป็นเอกบุรุษแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย และรักษาซึ่งความทรงจำไว้เป็นนิรันดร ชาวสรรคบุรีพร้อมทั้งมหาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งพุทธจักรและอาณาจักร ข้าราชการทุกสังกัด ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ได้ร่วมกันบริจาคสมทบทุนสร้างอนุสาวรีย์ขุนสรรค์ขึ้น สูงประมาณ 2.50 เมตร รวมค่าก่อสร้าง 4 แสนบาท นำประดิษฐานเป็นสง่าไว้ ณ ใจกลางเมือง บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี                ผู้ว่าฯ จำลอง กล่าวต่อว่า วันที่ 19 มกราคมของทุกปี ทางชมรมลูกขุนสรรค์ร่วมมือกับหน่วยงานร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการบวงสรวงดวงวิญญาณขุนสรรค์ขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายและหลายหัวหน้าส่วนงาน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายประชาชนชาวสรรคบุรี ผู้ใหญ่บ้าน กำนันและผู้นำท้องถิ่น ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาร่วมจัดงานแต่ละครั้งด้วยดีตลอดมา เพราะงานนี้ไม่มีการเก็บค่าผ่านประตูแต่อย่างใด                 ด้านนายประธาน ม่วงทอง ประธานชมรมลูกขุนสรรค์ กล่าวเสริมว่า งานบวงสรวงดวงวิญญาณขุนสรรค์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2526 และครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 18-20 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดงานแต่ละปีก็เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อขุนสรรค์ ที่เสียสละแม้ชีวิตเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลานได้อยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนรายได้ที่นำมาจัดงานนั้นได้จากการบริจาคจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ประชาชน หน่วยราชการ ในเขตอำเภอตลอดจนอำเภอใกล้เคียงและรายได้บางส่วนก็ได้จากการจำหน่ายธูปเทียนตลอดจนการเช่าวัตถุมงคลที่เข้าพิธีปลุกเสกจากเกจิชื่อดังมาแล้วหลายครั้ง   ............................................. (ย้อนรำลึกผู้กล้า'ขุนสรรค์' วีรบุรุษแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย : โดย...ธนพนธ์ แสงทอง )                 

No comments:

Post a Comment

Blog Archive