Wednesday, February 6, 2013

หนุนขรก.ท้องถิ่นรับสิทธิประกันสังคมเท่าขรก.

หนุนขรก.ท้องถิ่นรับสิทธิประกันสังคมเท่าขรก.
                 6ก.พ.2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือ “โครงการป่วยไข้ไม่ล้มละลาย” ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล                  ทั้งนี้โครงการดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข หารือและลงนามร่วมกับ 15 หน่วยงาน อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมราชการส่วนตำบลและเทศบาล สมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯ ในการพัฒนาให้เกิดความคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลของข้าราชการ-พนักงานส่วนท้องถิ่น และเห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการสำรองจ่ายค่ารักษา โดยตกลงจะใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2555                  ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในประเทศไทย แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,693 แห่ง มีข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นและผู้ใช้สิทธิร่วมซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวรวม 537,692 คน ส่วนขั้นตอนต่อหลังจากการลงนามแล้วจะมีการเสนอพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการในการตราพ.ร.ฎ. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศต่อไป                  นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลมีนโยบายนี้ออกมาเพราะอยากเห็นการพัฒนาการประกันสุขภาพและอยากเห็นการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเท่าทียมกัน เพราะอปท.มีความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายท้องถิ่นและพัฒนาความเจริญที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม จะเห็นว่าปัญหาท้องถิ่นอย่างอบต.เล็ก ๆ จะมีงบประมาณน้อย การจะให้เงินจากภาครัฐที่หากถูกจัดลงไปแล้วก็จะไม่สามารถดูแลส่วนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นมีการนำนโยบายมาร่วมกันเพื่อประโยชน์สุดท้ายอยู่ที่ท้องถิ่นของท่านเอง ที่ไม่ต้องออกงบประมาณในส่วนนี้ก่อนและเจ้าหน้าที่ทุกท่านจะได้รับการดูแลในโรคที่ค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีค่าใช้จ่าย                  อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นการบูรณาการของ 3 กองทุน คือกองทุนสปสช.30 บาทรักษาทุกโรค  กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการของข้าราชการ ซึ่งถือว่าเป็นวาระของชาติที่ยิ่งใหญ่ที่บูรณาการ 3 กองทุนมาบริหารในภาพรวมและจัดหายาที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาชีวิต เพื่อให้เงินนั้นได้ดูแลผู้ที่ทำงานหน้าที่ดูแลประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรงไม่ต้องล้มละลายในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ทำให้หลักประกันสุขภาพกระจายอย่างเท่าเทียม                  นายกฯ กล่าวอีกว่า โครงการนี้จะทำให้การจัดหายามีประสิทธิภาพมาขึ้น การรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะมีมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง โดยนำเทคโนโลยีประยุคทำให้เข้าถึงแพทย์-พยาบาลอย่างมีคุณภาพ และนอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงเพิ่มคือเพิ่มเวลาในการเข้าใช้สิทธิ์ เพราะข้าราชการบางส่วนที่ต้องดูแลประชาชนจึงขยายเวลาเข้ารับบริการได้หลังเลิกงาน เพื่อศักดิ์ศรีและไม่ต้องรอนาน โดยจะได้รับบริการทันที สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกที่ในโรงพยาบาลใกล้เคียง เพราะจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาชีวิตและสุขภาพของคนไทยทุกคนให้ เพราะมีคนร้อยเท่าก็ไม่เท่ากับมีสุขภาพที่ดี  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive